บรรพบุรุษของเราชาวอีสานมีความสร้างสรรค์ กำหนดงานบุญต่างๆขึ้นในแต่ละเดือน ทั้งบุญฮดสรง บุญผะเหวด บุญกฐิน เวียนจนครบทั้ง 12 เดือน 12 เทศกาล ที่เรียกว่า ฮีต 12 คอง 14

วัยรุ่นในยุค 2024 อาจจะไม่คุ้นเคยกับคำนี้  น้องน่าอยู่จะอธิบายให้ชมแบบง่ายๆ ตามไปดูความหมายกันได้เลยค่ะ

ฮีต 12 คอง 14

จากข้อมูลของศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมมข. ได้กล่าวไว้ว่า ฮีต 12 แปลว่าจารีต การปฏิบัติงานบุญสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณีทั้งสิบสองเดือน สำหรับคำว่า คอง 14 คาดเดาว่ามาจาก คลองหรือครรลองซึ่งมีความหมายว่าทางหรือแนวทางการปฏิบัติสิบสี่ข้อของท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความสงบสุขในชุมชน

ทางแห่งวิถีชีวิตของชาวอีสาน

ฮีต 12 คอง 14 มีความหมายโดยรวมคือทางแห่งวิถีชีวิตของชาวอีสาน ที่ถือปฏิบัติงานบุญกันมาอย่างยาวนานเพื่อให้ประชาชนทั่วไป พระภิกษุสงฆ์ ผู้ปกครองเมือง ปฏิบัติตามให้ชุมชนเกิดความสงบสุข ความรักใคร่ ความสามัคคีจากการทำกิจกรรมร่วมกันตามประเพณี ซึ่งในบทความนี้จะพาไปรู้จักกับฮีตทั้ง 12 เดือน จะมีการจัดเทศกาลใดบ้าง ไปอ่านกันได้เลยค่ะ

1.เดือนอ้าย (เดือนธันวาคม) : บุญเข้ากรรม

งานบุญเข้ากรรมนิยมกำหนดเอาเดือนอ้าย หรือเดือนแรกของปีกระทำพิธีตามกฎของพระสงฆ์เพราะเป็นบุญพิธีสำหรับพระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ในอดีตถือเป็นพิธีการที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์เท่านั้น ประชาชนไม่สามารถเข้าร่วมได้

2.เดือนยี่ (เดือนมกราคม) : บุญคูนลาน

งานบุญคูนลานมีที่มาจากคูณซึ่งแปลว่าเพิ่มขึ้น สูงขึ้น เป็นการทำบุญของชาวนาที่ต้องการขอบคุณผลผลิตที่ได้จากข้าวหรือเรียกว่ารับขวัญข้าว นิยมทำช่วงเดือนมกราคมหรือหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว

3.เดือนสาม (เดือนกุมภาพันธ์) : บุญข้าวจี่

งานบุญข้าวจี่ เมื่อถึงฤดูหนาวตอนเช้ามืดจะมีการนั่งผิงไฟล้อมวงและจี่ข้าวไปด้วยเพื่อคลายความหนาวของชาวบ้าน ข้าวจี่คือข้าวเหนียวที่นึงจนสุก นำมาปั้นเป็นก้อนกลม คลุกกับไข่หรือเกลือ สามารถเพิ่มรสชาติให้หวานด้วยการใส่ไส้น้ำอ้อยแบบก้อน นำไปย่างกับไฟจนมีกลิ่นหอม จึงอยากจะทำถวายแก่พระสงฆ์ด้วย

4.เดือนสี่ (เดือนมีนาคม): บุญผะเหวดหรือ พระเวสสันดร

งานบุญผะเหวดที่ชาวอีสานเรียกว่าบุญผะเหวดหรือบุญมหาชาติ ว่าด้วยเรื่องการบำเพ็ญบุญบารมีทั้ง 10 ประการของพระเวสสันดรก่อนที่ท่านจะไปประสูติเป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย เชื่อว่าหากใครฟังพระเทศน์มหาชาติครบภายในหนึ่งวัน เมื่อภายชาติหน้าจะได้เกิดและพบเจอที่เดียวกับพระพุทธเจ้า

5.เดือนห้า(เดือนเมษายน) : บุญฮดสรง หรือ บุญสงกรานต์

งานบุญฮดสรง การฮด/การหดสรง เป็นสำเนียงทางภาคอีสานซึ่งแปลว่าการรดน้ำให้กับพระภิกษุ นิยมจัดขึ้นในวันขึ้นปีใหม่ไทยหรือวันสงกรานต์ นำพระพุทธรูปออกมาไว้ที่แท่นสรงน้ำ จากนั้นชาวบ้านจะนำน้ำผสมน้ำอบ หรือแป้งเเละดอกไม้ มาร่วมกันสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัด

6.เดือนหก (เดือนพฤษภาคม) : บุญบั้งไฟ

งานบุญบั้งไฟจัดขึ้นในช่วงฤดูการทำนา เป็นการบูชาพญาแถน (พระอินทร์) เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล โดยมีที่มาจากนิทานพื้นบ้านเรื่องผาแดงนางไอ่ ในเทศกาลบุญบั้งไฟวันแรกมีการสร้างสรรค์ขบวนอลังการ มีนางลำ และดนตรีพื้นบ้าน เทพบุตร เทพธิดาแต่งตัวสวยงามในขบวนแห่ สำหรับวันที่สองจะเป็นการจุดบั้งไฟเพื่อขอฝน

7.เดือนเจ็ด (เดือนมิถุนายน) : บุญซำฮะ

งานบุญซำฮะมูลเหตุจากในอดีตเกิดอุบัติโรคขึ้น ข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านจึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้ามาสวดไล่ปัดเป่าวิญญาณร้าย ซึ่งในขณะนั้นก็ได้เกิดพายุฝนลูกใหญ่เทลงมา ล้างเอาสิ่งสกปรกและเชื้อโรคออกจากเมือง ดังนั้นชาวบ้านจึงได้ยึดถือประเพณีบุญชำระหรือบุญซำฮะตั้งแต่นั้นมา

8.เดือนแปด (เดือนกรกฎาคม) : บุญเข้าพรรษา

งานบุญเข้าพรรษาเป็นพิธีที่จะให้พระภิกษุสงฆ์ประจำที่วัดในช่วงฤดูฝน ชาวบ้านจะถวายเครื่องใช้ต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ใน 3 เดือน นอกจากนั้นยังมีการถวายต้นเทียน เพราะในอดีตยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงหล่อเทียนต้นใหญ่ขึ้นมาในการปฏิบัตรกิจการต่างๆของสงฆ์

9.เดือนเก้า (เดือนสิงหาคม) : บุญข้าวประดับดิน

งานบุญข้าวประดับดินการจัดเตรียมข้าวและอาหารหวานคาว หมากพลู และบุหรี่ ชาวบ้านจะนำสิ่งของดังกล่าวใส่กระทงแล้วนำไปวางตามที่ต่างๆในเวลาก่อนรุ่งเช้า ในเขต ลานวัด เช่น ตามรั้ว ต้นไม้ หรือตามพื้นดิน เป็นการทำบุญแด่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือสัมภเวสีไร้ญาติ

10.เดือนสิบ (เดือนกันยายน) : บุญข้าวสาก หรือ สลากภัต

งานบุญข้าวสากจัดขึ้นมาเพื่อทำบุญให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการนำภัตหารไปถวายแด่พระสงฆ์โดยชาวบ้านจัดทำสลากของตนเองขึ้นมา เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์จะทำการจับสลาก หากจับได้ของโยมคนใด คนนั้นๆ ก็ต้องนำภัตหารมาถวายแด่พระสงฆ์ที่จับสลากได้

11.เดือนสิบเอ็ด (เดือนตุลาคม) : บุญออกพรรษา

งานบุญออกพรรษาเป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระสงฆ์ว่ากล่าวติเตียนกันได้ สำหรับพิธีการในวันออกพรรษาช่วงเช้าจะมีการตักบาตรทำบุญ บ้างพื้นที่มีการกวนข้าวทิพย์ให้แด่พระสงฆ์ด้วย ส่วนช่วงเย็นมีการเวียนเทียน มหรสพ หรือบ้างพื้นที่ติดกับแม่น้ำจะมีการจัดไหลเรือไฟเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเชื่อว่าไฟนั้นเผาความทุกข์ให้ลอยไปกับแม่น้ำ

12.เดือนสิบสอง (เดือนพฤศจิกายน) : บุญกฐิน และงานลอยกระทง

งานบุญกฐิน เมื่อเข้าพรรษาทั้ง 3 เดือน พระสงฆ์ได้สวมใส่จีวรจนเสื่อสภาพแล้ว ชาวบ้านจึงได้จัดบุญกฐินจะจัดหลังจากออกพรรษา โดยนำผ้าจีวรไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ หากผู้ใดมีศรัทธาสามารถเขียนสลาก(ใบจอง) เพื่อแจ้งต่อทางวัดได้ เพราะในหนึ่งวัดสามารถทอดถวายกฐินได้ 1 กองเท่านั้น

งานบุญลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีรากฐานมาจากความเชื่อของประเทศอินเดีย ที่เมื่อถึงสิ้นปีต้องมีการขอขมาพระแม่คงคาเทพธิดาผู้รักษาแม่น้ำคงคาซึ่งเชื่อว่ามีแหล่งกำเนิดมาจากสวรรค์ แล้วยังก่อให้มนุษรำลึกถึงคุณประโยชน์ของน้ำที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ปฏิทินอีเว้นท์งานบุญประจำภาคอีสาน 12 เดือน

เดือนอ้าย (ธ.ค.) 

บุญเข้ากรรม

เดือนยี่ (ม.ค.) 

 บุญคูนลาน


เดือนสาม (ก.พ.) 

บุญข้าวจี่

เดือนสี่ (มี.ค.) 

 บุญผะเหวด


เดือนห้า (เม.ย.) 

 บุญฮดสรง หรือ บุญสงกรานต์

เดือนหก (พ.ค.) 

บุญบั้งไฟ

เดือนเจ็ด (มิ.ย.) 

บุญซำฮะ


เดือนแปด (ก.ค.)

 บุญเข้าพรรษา

เดือนเก้า(ส.ค.)  บุญข้าวประดับดิน


เดือนสิบ(ก.ย.) 

 บุญข้าวสาก/สลากภัต


เดือนสิบเอ็ด (ต.ค.) 

บุญออกพรรษา


เดือนสิบสอง (พ.ย.)

 บุญกฐิน,งานลอยกระทง


แนะนำสถานที่สำหรับตามรอยตามฮีต 12

น้องน่าอยู่จะพาผู้อ่านท่องเที่ยวตามรอยฮีต 12 ที่เคยจัดอย่างใหญ่โตในภาคอีสาน ทั้งงานบุญคูณลาน งานสงกรานต์ พิธีเข้าพรรษา เป็นต้น งานจัดที่สถานที่ใด และจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ขนาดไหน ต้องตามไปดูความน่าประทับใจกันได้เลยค่ะ

ฮีตเดือนยี่ บุญคูณลาน (บุญกุ้มข้าวใหญ่) "มาโฮมบุญบูชาคุณข้าว" ที่บุรีรัมย์

ณ วัดตาไก้พลวง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มตั้งแต่เวลา 09:00 น. เป็นต้นไป ภายในงานบุญพบกับปราสาทข้าวสุดอลังการ และกิจกรรมที่น่าสนใจ อย่าง สู่ขวัญข้าว ฟังพระเทศ การละเล่นพื้นบ้าน และงานชิม ชม ช้อปจากผลิตภัณฑ์มากมายที่ชุมชนร่วมกันผลิตทั้งผ้าไหมขึ้นชื่อเมืองบุรีรัมย์ และผลผลิตแสนภาคภูมิใจของเกษตรกร

ฮีตเดือนห้า เทศกาลสงกรานต์เล่นน้ำกับช้างที่โครงการคชอาณาจักสุรินทร์

ณ องค์การสวนสัตว์ ในพระราชูปถัมภ์ บ้านกระโพ ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ พบขบวนแห่พระพุทธรูปและขบวนช้างสงกรานต์ ที่ตัวช้างเพนท์ด้วยสีหลากหลาย สดใสเข้ากับเทศกาลสงกรานต์ คลายร้อนด้วยการเล่นน้ำกับช้าง ก่อนปิดงานด้วยงานบุญรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

ฮีตเดือนแปดแห่เทียนพรรษา ประเพณีเก่าแก่กว่าร้อยปี เทศกาลเข้าพรรณษา ที่อุบล

ณ ทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี ถนนอุปราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี รับชมงานบุญขบวนต้นเทียนพรรษาสลักร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าพุทธประวัติอย่างสวยงาม พร้อมการแสดงแสง สี เสียง ขบวนนางรำกว่า 70 ขบวน และงานแสดง OTOP โดยปกติขบวนต้นเทียนพรรษาจะจัดให้ชมตลอดทั้งเดือน

ฮีตเดือนสิบเอ็ดสีสันลำน้ำปาวแข่งเรือยาวกุมภาวปี ออกพรรณษา ที่อุดร

ณ บริเวณลำน้ำปาว ตรงข้ามศาลเจ้าปู่-ย่า อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี งานบุญแข่งขันเรือยาวเป็นมรดกทางกีฬาทางน้ำที่จัดควาบคู่กับการทำบุญตักบาตรยามออกพรรณษามาเนิ่นนาน ชาวอุดรจึงน้อมนำจัดการแข่งขันเรือยาวขึ้นที่ลำน้ำปาวโดยทั้งสองฝั่งมีการประกวดกองเชียร์และจัดจำหน่ายสินค้าจากชุมชน

ฮีตเดือนสิบสองลอยกระทงสีฐานเฟสติวัล ศรัทธา มหาสนุก ปลุกวิถีวัฒนธรรม ที่ขอนแก่น

ณ มหาวิทยาสาลัยขอนแก่น อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น จัดอย่างยิ่งใหญ่ 3 วัน พร้อมทัพขบวนงานบุญแห่อย่างยิ่งใหญ่ ผสมกับงาน KKU carnival ที่มากับความสนุกสนาน นอกจากนี้บรรยากาศภายในงานตกแต่งไปด้วยโคมไฟที่นศ.ช่วยกันทำกว่า 3,000 ดวง

สรุป

แม้กาลเวลาจะแปรเปลี่ยนไปเพียงใด ก็ไม่อาจลบเลือนมรดกวัฒนธรรมงานบุญที่สวยงามของบรรพบุรุษที่ได้สร้างไว้ให้กับลูกหลาน เพราะวัฒนธรรมและประเพณีเหล่านี้เสมือนแผนการดำเนินชีวิตที่เสริมให้ชีวิตพบเจอความสุขใจ น้องน่าอยู่จึงขอเป็นส่วนนึงที่ได้เผยแพร่มรดกล้ำค่านี้สืบไป

สำหรับใครที่กำลังมองหาซื้อคอนโดใหม่ สามารถเข้ามาเลือกชม โครงการคอนโดใหม่พร้อมอยู่ ได้ที่เว็บไซต์น่าอยู่ แหล่งรวมประกาศขายคอนโด โครงการบ้านจัดสรร แนะนำโครงการใหม่พร้อมอยู่ทุกทำเล ที่มาพร้อมกับดีไซน์ สไตล์บ้านที่หลากหลาย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ที่คุณชอบ มีให้เลือกกว่า 1,200 โครงการและยังมีสาระน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการบ้านที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกด้วย

บทความแนะนำ

กดติดตาม "น่าอยู่" เพื่อ หาบ้านมือ 1, หาคอนโด, บ้านมือ 2, ที่ดิน รวมถึงหาเช่า/หอพักทั่วประเทศเพิ่มเติมได้ที่บนเว็บไซต์