หลายครอบครัวมักมีทรัพย์สินที่ตั้งใจส่งมอบเป็นมรดกไว้ให้ลูกหลาน ซึ่งการมอบมรดกให้ผู้อื่นเราต้องเสียภาษีมรดกด้วยนะครับ แต่ภาษีมรดกจะมีรายละเอียดยังไงบ้าง ใครบ้างที่ต้องจ่าย และมีอัตราเสียภาษีเท่าไหร่ วันนี้น้องน่าอยู่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักภาษีมรดกกัน รวมถึงเคล็ดลับวางแผนภาษีมรดก เพื่อไม่ให้ลูกหลานหรือคนที่เราอยากส่งต่อมรดก ต้องแบกรับภาษีการรับมรดกในส่วนนี้ ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยครับ

ภาษีมรดก คืออะไร

ภาษีมรดก คืออะไร

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนเลยครับว่าภาษีมรดกคืออะไร ภาษีมรดก คือ ภาษีส่วนที่ผู้ได้รับมรดกจากผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นบุพการี ทายาท หรือผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทางสายเลือด ต้องเสียภาษีมรดกตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเบื้องต้นภาษีมรดกจะคิดจากมูลค่าทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ดังนั้นหากมรดกที่ได้รับมีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาทก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดกนั่นเองครับ สำหรับใครที่เข้าเงื่อนไขต้องเสียภาษีมรดก เราไปดูกันต่อเลยครับว่ามีรายละเอียดยังไงบ้างและภาษีมรดกเสียเท่าไหร่

ทรัพย์สินไหนบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก

ทรัพย์สินไหนบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก

ใครที่มีทรัพย์สินมรดกเยอะอย่าพึ่งกังวลไปครับ เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินทุกประเภทต้องเสียภาษีมรดก ซึ่งทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดกมีดังนี้ครับ

  • อสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน อาคาร คอนโด
  • หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน ตราสารหนี้ หุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นสามัญนอกตลาดหลักทรัพย์
  • ยานพาหนะที่มีหลักฐานการจดทะเบียน
  • เงินฝากธนาคาร

เพราะฉะนั้นใครที่ต้องการมอบมรดกโดยเป็นทรัพย์สินนอกเหนือจาก 4 ประเภทที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกนั่นเองครับ ซึ่งทุกคนสามารถนำไปเป็นแนวทางในการประหยัดภาษีมรดกได้ โดยน้องน่าอยู่จะพูดถึงเคล็ดลับวางแผนภาษีมรดกต่อไปในด้านล่างของบทความนี้ครับ

ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก

ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงเข้าใจเรื่องภาษีมรดกมากขึ้นแล้วใช่มั้ยล่ะครับ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าผู้ที่ได้รับมรดกมูลค่าทรัพย์เกิน 100 ล้านบาทขึ้นไปและทรัพย์นั้นเป็นประเภทอสังหาริมทรัพย์, หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ยานพาหนะ และเงินฝากธนาคาร ต้องเสียภาษีมรดกตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่นอกจากที่กล่าวไปคนที่มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก มีดังนี้ครับ

  • เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย
  • เป็นบุคคลที่ถือสัญชาติอื่น แต่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตามกฎหมาย
  • เป็นบุคคลที่ถือสัญชาติอื่น แต่รับมรดกที่เป็นทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทย
  • เป็นนิติบุคคลที่ได้รับการจดทะเบียนในไทย หรือมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

ในเรื่องของอัตราภาษีมรดก จะจำแนกอัตราภาษีตามความสัมพันธ์ใกล้ชิด ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ครับ

  • เสียอัตราภาษีมรดก 5% กรณีความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียชีวิตกับผู้ได้รับมรดกนั้นเป็นความสัมพันธ์กันในลักษณะของผู้สืบสันดานหรือบุพการี
  • เสียอัตราภาษีมรดก 10% กรณีความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียชีวิตกับผู้ได้รับมรดกเป็นญาติที่มีความความสัมพันธ์ห่างกัน เช่น พี่น้อง หรือคนที่ไม่ใช่ญาติ

นอกจากนี้ใครที่มอบมรดกเป็นที่ดินนอกจากอาจต้องเสียภาษีมรดกแล้ว ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนที่ดินมรดกด้วยนะครับ โดยสามารถตามไปอ่านต่อที่ การแบ่งโฉนดที่ดินมรดก ต้องทำอย่างไร? กันได้เลยครับ

วิธีคำนวณภาษีมรดก

วิธีคำนวณภาษีมรดก

เพื่อให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้น น้องน่าอยู่จะพาไปดูวิธีคำนวณภาษีการรับมรดกกันครับ โดยยกตัวอย่างเป็น 3 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 คุณขอนแก่นได้ส่งมอบมรดกที่ดินมูลค่า 10 ล้านบาทให้น้องน่าอยู่ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นผู้สืบสันดาน ในกรณีที่น้องน่าอยู่ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกเนื่องจากมรดกที่ได้รับมีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท

กรณีที่ 2 คุณขอนแก่นได้ส่งมอบมรดกที่ดินมูลค่า 150 ล้านบาทให้น้องน่าอยู่ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นผู้สืบสันดาน ในกรณีที่น้องน่าอยู่ต้องเสียภาษีมรดกที่ดิน โดยมีอัตราภาษีมรดก 5% สามารถคำนวณได้ดังนี้

  • ภาษีที่ต้องจ่าย = (มูลค่ามรดกสุทธิที่ได้รับ – 100 ล้านบาทที่กำหนดไว้ว่าไม่ต้องเสียภาษี) x 5%
  • ภาษีที่ต้องจ่าย = (150 – 100) x 5%
  • ภาษีที่ต้องจ่าย = 2.5 ล้านบาท

กรณีที่ 3 คุณขอนแก่นได้ส่งมอบมรดกที่ดินมูลค่า 150 ล้านบาทให้น้องน่าอยู่ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นพี่น้อง ในกรณีที่น้องน่าอยู่ต้องเสียภาษีมรดกที่ดินโดยมีอัตราภาษีมรดก 10% สามารถคำนวณได้ดังนี้

  • ภาษีที่ต้องจ่าย = (มูลค่ามรดกสุทธิที่ได้รับ – 100 ล้านบาทที่กำหนดไว้ว่าไม่ต้องเสียภาษี) x 5%
  • ภาษีที่ต้องจ่าย = (150 – 100) x 10%
  • ภาษีที่ต้องจ่าย = 5 ล้านบาท

เคล็ดลับวางแผนภาษีมรดก

เคล็ดลับวางแผนภาษีมรดก

ก่อนจากกันไปน้องน่าอยู่มีเคล็ดลับวางแผนภาษีมรดกมาฝากทุกคนกันครับ เพื่อที่ทุกคนจะได้วางแผนในการมอบมรดกให้แก่ลูกหลาน ไม่ให้ลูกหลานหรือคนที่เราอยากส่งต่อมรดก ต้องแบกรับภาษีการรับมรดกในส่วนนี้มากเกินไปและได้รับประโยชน์สูงสุดในการรับมรดก ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูเคล็ดลับกันเลยครับ

ทุกคนสามารถวางแผนภาษีมรดกได้โดยการมอบมรดกเป็นทรัพย์สินที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก ได้แก่

  • เงินสด
  • ทองคำ
  • เพชรพลอย เครื่องเพชร เครื่องประดับ
  • ของสะสมและของโบราณ
  • ทรัพย์สินทางปัญญา

นอกจากนี้น้องน่าอยู่แนะนำว่าให้ซื้อประกันชีวิต เพราะจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ยิ่งเราจ่ายเบี้ยไปเท่าไหร่ ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นทุนประกันที่สูงกว่ากลับมา หรือจะก่อตั้งมูลนิธิ สมาคม หรือวิสาหกิจเพื่อชุมชน เป็นการทำประโยชน์เพื่อสังคม และยังสามารถจดทะเบียนกับกรมสรรพากรเพื่อขอยกเว้นภาษีได้อีกด้วยนะครับ

สำหรับใครที่สนใจวางแผนภาษีให้มีเงินเก็บ สามารถตามไปอ่านกันต่อที่ มาวางแผนภาษีกันเถอะ! เคล็ดลับทำยังไงให้มีเงินเก็บ กันได้เลยครับ

บทสรุป

จบกันไปแล้วกับการทำความรู้จักภาษีมรดกที่น้องน่าอยู่นำมาฝากทุกคนกัน จะเห็นว่าการศึกษาภาษีมรดกเป็นเรื่องที่สำคัญมากเลยใช่มั้ยล่ะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครที่กำลังวางแผนแบ่งมรดกจะนำไปปรับใช้เป็นแนวทางกันได้นะครับ อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ทุกคนอย่าลืมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อนทำการแบ่งมรดกหรือจ่ายภาษีมรดกกันด้วยนะครับ

สำหรับใครที่กำลังมองหาซื้อบ้านเดี่ยวและคอนโดอยู่ สามารถเข้ามาเลือกชม โครงการบ้านใหม่พร้อมอยู่ และ โครงการคอนโด ได้ที่เว็บไซต์น่าอยู่ แหล่งรวมประกาศขายบ้านเดี่ยว โครงการบ้านจัดสรรและคอนโด แนะนำโครงการใหม่พร้อมอยู่ทุกทำเล ที่มาพร้อมกับดีไซน์ สไตล์บ้านที่หลากหลาย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ที่คุณชอบ มีให้เลือกกว่า 1,300 โครงการและยังมีสาระน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการบ้านที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกด้วย

บทความแนะนำ

อ้างอิง

กดติดตาม "น่าอยู่" เพื่อ หาบ้านมือ 1, หาคอนโด, บ้านมือ 2, ที่ดิน รวมถึงหาเช่า/หอพักทั่วประเทศเพิ่มเติมได้ที่บนเว็บไซต์