ในการซื้อขายที่ดินมีหลายอย่างที่เราต้องตรวจสอบให้ดีก่อนตัดสินใจเลือกซื้อที่ดิน ทั้งโฉนดที่ดิน, ราคาประเมินที่ดิน, กฎหมายต่าง ๆ  ซึ่งการรังวัดที่ดินก็เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่เราต้องตรวจสอบให้ดี หากไม่ตรวจสอบอาจเกิดปัญหารังวัดที่ดินไม่ตรงโฉนดได้

หลายคนอาจยังไม่ค่อยรู้ถึงความสำคัญของการรังวัดที่ดินและรายละเอียดต่าง ๆ เพราะฉะนั้นในบทความนี้น่าอยู่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักรังวัดที่ดินแบบละเอียดเจาะลึก รวมไปถึงขั้นตอนขอรังวัดที่ดินและค่าธรรมเนียมรังวัดที่ดิน ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยครับ

รังวัดที่ดินคืออะไร

รังวัดที่ดินคืออะไร

รังวัดที่ดิน คือ การให้เจ้าหน้าที่กรมที่ดินเข้ามาทำการรังวัดที่ดิน ตรวจสอบว่าขนาดของที่ดินที่ต้องการซื้อ-ขายนั้นตรงกับที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินหรือไม่ เนื่องจากตัวเลขขนาดที่ดินที่ระบุในโฉนด อาจเกินหรือน้อยกว่าพื้นที่จริง

โดยปกติต้องรังวัดที่ดินในทุก ๆ 10 ปี โดยเจ้าหน้าที่จะเข้าไปทำการตรวจสอบและทำการปักหมุดที่ถูกต้องตามแปลงที่ดินว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เนื่องจากเจ้าของที่ดินอาจขาดการตรวจสอบหรือเว้นระยะการรังวัดที่ดินมานานแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง เราจึงควรตกลงกับเจ้าของที่ดินให้ทำการติดต่อขอรังวัดที่ดินก่อนทำการซื้อขาย

สำหรับใครที่สนใจซื้อที่ดินแต่ยังไม่แน่ใจว่ามีขั้นตอนในการซื้อที่ดินยังไงบ้าง สามารถตามไปอ่านกันได้ที่ 5 เช็คลิสต์ขั้นตอนการซื้อที่ดิน ใครกำลังจะซื้อที่ดินต้องอ่าน กันได้เลยครับ

หรือใครที่สนใจซื้อที่ดินนอกจากรังวัดที่ดินแล้วราคาประเมินที่ดินก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเช็คเช่นกัน ใครที่สนใจเช็คราคาประเมินที่ดิน สามารถตามไปอ่านกันได้ที่ ชวนรู้จักราคาประเมินที่ดินพร้อมวิธีประเมินง่าย ๆ ได้เลยครับ

การยื่นขอรังวัดที่ดินสามารถทำได้ 3 ที่ ได้แก่ สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาและสำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ แบ่งเป็น

  • การขอรังวัดที่ดินเพื่อจัดทำโฉนดที่ดินให้ติดต่อยื่นคำขอรังวัดที่ดินได้ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่
  • การขอรังวัดที่ดินเพื่อจัดทำหนังสือรับรองการทำผลประโยชน์ ติดต่อยื่นคำขอรังวัดที่ดินได้ที่สำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ แต่หากอำเภอนั้นได้มีการยกเลิกอำนาจ ให้ไปติดต่อยื่นขอได้ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่

ส่วนการรังวัดที่ดินออนไลน์สามารถทำได้เฉพาะ 17 พื้นที่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น โดยจองคิวรังวัดที่ดินออนไลน์ได้ผ่านแอปพลิเคชั่น e - QLands

ประเภทของรังวัดที่ดิน

ประเภทรังวัดที่ดิน

การรังวัดที่ดินแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ดังนี้

  1. การรังวัดสอบเขต เป็นการรังวัดเพื่อตรวจสอบว่าเนื้อที่ดินทั้งหมดตรงกับเนื้อที่ในโฉนดที่ดินหรือไม่ และมีสภาพที่ดินที่แท้จริงเท่าไหร่ รวมถึงในกรณีที่หมุดปักบอกอาณาเขตหาย เจ้าของที่ดินต้องมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการรังวัดที่ดินและปักหลักหมุดให้ใหม่ และแก้ไขเลขหมายหลักหมุดรวมถึงแนวอาณาเขตลงในโฉนดที่ดินให้ถูกต้อง
  2. การรังวัดแบ่งแยก เป็นการรังวัดสำหรับแปลงที่ดินขนาดใหญ่แล้วต้องการแบ่งเป็นหลาย ๆ แปลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลต้องการแบ่งขาย มอบเป็นมรดก หรือสาเหตุอื่น ๆ เจ้าของที่ดินต้องมายื่นคำขอรังวัดที่ดินเพื่อทำการออกโฉนดที่ดินที่แบ่งใหม่ไปให้กับเจ้าของที่ดิน
  3. การรังวัดรวมโฉนด เป็นการรังวัดในกรณีที่เจ้าของที่ดินซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงแล้วต้องการรวมโฉนดที่ดินใหม่ให้เป็นฉบับเดียว เจ้าของที่ดินต้องมายื่นคำขอรังวัดที่ดินกับเจ้าหน้าที่และทำการออกโฉนดที่ดินใหม่

ประโยชน์ของรังวัดที่ดิน

ประโยชน์ของการรังวัดที่ดิน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ารังวัดที่ดินมีความสำคัญ เพราะเป็นการตรวจสอบว่าขนาดของที่ดินที่ต้องการซื้อ-ขายนั้นตรงกับที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินหรือไม่ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันการโดนแอบอ้าง โดนแย่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การรุกล้ำที่ดินจากผู้ไม่หวังดี

และยังสำคัญสำหรับคนที่กำลังจะสร้างบ้านบนที่ดิน การรังวัดที่ดินจะทำให้รู้ถึงขอบเขตที่ดินและช่วยให้สถาปนิกวางแผนออกแบบตัวบ้านและเว้นระยะห่างของบ้านได้อย่างถูกต้องอีกด้วย เป็นการป้องกันการเหลื่อมล้ำที่ดินจากสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะพื้นที่ธรรมชาติ เช่น คลอง แม่น้ำ ลำธาร ซึ่งอาจมีการกัดเซาะไปตามกาลเวลา

สิ่งที่เจ้าของที่ดินต้องรู้เพื่อเตรียมตัวรังวัดที่ดิน

สิ่งที่เราควรรู้ก่อนเตรียมรังวัดที่ดิน

เว็บไซต์กรมที่ดิน ได้มีการแจกแจงรายละเอียดในการรังวัดที่ดินเกี่ยวกับสิ่งที่เจ้าของที่ดินต้องรู้และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปรังวัดที่ดินเพื่อให้การรังวัดที่ดินเป็นไปอย่างเรียบร้อยและไม่เสียเวลา โดยสิ่งที่ต้องเตรียมตัวให้ดีสำหรับเจ้าของที่ดินประกอบไปด้วยสิ่งที่เจ้าของที่ดินต้องรู้และเอกสารที่ต้องเตรียม ซึ่งน่าอยู่ได้สรุปรวมมาให้ทุกคน ดังนี้

สิ่งที่เจ้าของที่ดินต้องรู้

ก่อนไปยื่นคำขอรังวัดที่ดิน สิ่งที่เจ้าของที่ดินต้องรู้เกี่ยวกับที่ดินของตัวเองและเตรียมตัวให้ดี มีดังนี้

  1. ที่ดินที่ครอบครองอยู่มีหลักฐานอะไร ให้นำหลักฐานที่มีไปประกอบการยื่นคำขอรังวัดที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน, น.ส.3, น.ส.3 ก.                                
  2. ที่ดินที่ครอบครองตั้งอยู่ที่ไหน จังหวัดอะไร ตำบลอะไร อำเภออะไร หมู่ที่เท่าไหร่
  3. ที่ดินข้างเคียงใครเป็นเจ้าของที่ดินบ้าง ติดที่สาธารณประโยชน์หรือไม่
  4. สภาพที่ดินที่ครอบครองเป็นอย่างไร เช่น เป็นที่ดินเปล่า ที่นา ที่สวน ที่อยู่อาศัย

ใครที่สนใจอยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ที่ดิน สามารถตามไปอ่านกันได้ที่เรื่องน่ารู้ชวนคิด เอกสารสิทธิ์เกี่ยวกับที่ดิน

เอกสารที่ต้องเตรียม

เจ้าของที่ดินต้องเตรียมเอกสารรังวัดที่ดินเพื่อใช้สำหรับยื่นคำขอรังวัดที่ดิน ดังนี้

  1. บัตรประจำตัว ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัวชื่อสกุล (ถ้ามี)
  2. โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
  3. หลักฐานประกอบการขอรังวัดรวมโฉนดที่ดิน
  4. โฉนดที่ดินที่จะขอรวม ต้องมีลักษณะดังนี้
  • ต้องเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทเดียวกัน เว้นแต่ โฉนดแผนที่ กับโฉนดที่ดินให้รวมกันได้
  • ต้องมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่ดินเหมือนกันทุกฉบับและต้องยังมีชีวิตอยู่ทุกคน
  • ต้องเป็นที่ดินติดต่อผืนเดียวกัน ในจังหวัดและสำนักงานที่ดินเดียวกัน

ขั้นตอนรังวัดที่ดิน

ขั้นตอนรังวัดที่ดิน

หลังจากเจ้าของที่ดินทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องรู้และเอกสารที่ต้องเตรียมเกี่ยวกับรังวัดที่ดินเรียบร้อยแล้ว ต่อไปจะเป็นขั้นตอนการรังวัดที่ดิน ไปดูกันเลยครับว่ามีขั้นตอนยังไงบ้าง

ขั้นตอนการรังวัด แบ่งแยก รวม สอบเขตที่ดิน

การรังวัดที่ดิน 3 ประเภททั้ง การรังวัดสอบเขต การรังวัดแบ่งแยก และการรังวัดรวมโฉนด มีขั้นตอนที่คล้ายกัน ดังนี้

  1. รับบัตรคิวจากประชาสัมพันธ์
  2. เจ้าของที่ดินรับคำขอสอบสวนและชำระเงินค่าธรรมเนียมรังวัดที่ดิน
  3. เจ้าของที่ดินส่งเอกสารให้ฝ่ายรังวัดดำเนินการ นัดวันทำการรังวัด กำหนดตัวช่างรังวัด และกำหนดเงินมัดจำรังวัด
  4. ค้นหารายชื่อเจ้าของที่ดินข้างเคียงและพิมพ์หนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียง
  5. รับหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียง วางเงินมัดจำรังวัดและรับหลักเขตที่ดิน
  6. ช่างรังวัดออกไปทำการรังวัดตามวันที่กำหนดไว้
  7. คำนวณเนื้อที่ และเขียนรูปแผนที่ในโฉนดที่ดิน
  8. ส่งเรื่องรังวัดคืนฝ่ายทะเบียน และเรียกผู้ขอมาจดทะเบียน
  9. สอบสวนจดทะเบียนแบ่งแยก
  10. ตรวจอายัด
  11. ชำระเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและค่าโฉนด
  12. แก้รายการทะเบียนและจดทะเบียนแบ่งแยก
  13. สร้างโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยก (กรณีรังวัดแบ่งแยก)
  14. เสนอเจ้าพนักงานที่ดินลงนามและประทับตรา
  15. แจกโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยก (กรณีรังวัดแบ่งแยก)

ขั้นตอนการขอแบ่งแยกตรวจสอบเนื้อที่และรวมหนังสือรับรองการทำประโยชน์

สำหรับขั้นตอนการแบ่งแยกตรวจสอบเนื้อที่และรวมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ มีด้วยกัน 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. เจ้าของที่ดินนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเอกสารต่าง ๆ ไปยื่นคำขอ
  2. เจ้าของที่ดินให้ถ้อยคำในการนัดรังวัดเพื่อกำหนดวันทำการรังวัด, กำหนดค่าใช้จ่ายในการรังวัดและกำหนดเจ้าหน้าที่และสถานที่นัดพบ
  3. เจ้าของที่ดินรับเจ้าหน้าที่ไปทำการรังวัดและปักหลัก จนเสร็จสิ้นกระบวนการ
  4. เจ้าของที่ดินลงนามในเอกสารต่าง ๆ
  5. เจ้าของที่ดินรอรับหนังสือแจ้งให้ไปดำเนินการจดทะเบียน

ค่ารังวัดที่ดิน

ค่าใช้จ่ายการรังวัดที่ดิน

ในการรังวัดที่ดินเจ้าของที่ดินต้องศึกษาว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างในการรังวัดที่ดิน เพื่อจะได้เตรียมตัวสำหรับค่าใช้จ่ายเพราะเจ้าของที่ดินต้องเป็นฝ่ายชำระค่าธรรมเนียมรังวัดที่ดินเองทั้งหมดไม่ว่าจะรังวัดเพื่อขายหรือมอบเป็นมรดกก็ตาม

  1. ค่าธรรมเนียมออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์
  • ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ แปลงละ 30 บาท
  • ที่ดินเนื้อที่เกิน 20 ไร่ ส่วนที่เกิน( เศษของไร่ให้คิดเป็นหนึ่งไร่) ไร่ละ 2 บาท

2. ค่าธรรมเนียมการพิสูจน์สอบสวนหรือตรวจสอบเนื้อที่เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์

  • ถ้าเรียกเป็นรายแปลง แปลงละ 30 บาท
  • ถ้าเรียกเป็นรายวัน วันละ 30 บาท
  • ค่าคัดหรือจำลองแผนที่ แปลงละ 30 บาท
  • ค่าคำนวณเนื้อที่หรือสอบแส แปลงละ 30 บาท
  • ค่าจับระยะ แปลงละ 10 บาท

3. ค่าธรรมเนียมออกโฉนดที่ดิน

  • ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ แปลงละ 50 บาท
  • ที่ดินเนื้อที่เกิน 20 ไร่ ส่วนที่เกิน( เศษของไร่ให้คิดเป็นหนึ่งไร่ ) ไร่ละ 2 บาท

4. ค่าธรรมเนียมรังวัดเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน

  • ถ้าเรียกเป็นรายแปลง แปลงละ 40 บาท
  • ถ้าเรียกเป็นรายวัน วันละ 40 บาท
  • ค่าคัดหรือจำลองแผนที่ แปลงละ 30 บาท
  • ค่าคำนวณเนื้อที่หรือสอบแส แปลงละ 30 บาท
  • ค่าจับระยะ แปลงละ 10 บาท

5. ค่าธรรมเนียมเบ็ดเตล็ด

  • ค่าคำขอ แปลงละ 5 บาท
  • ค่ามอบอำนาจ เรื่องละ 20 บาท
  • ค่าปิดประกาศให้แก่ผู้ปิดประกาศ แปลงละ 10 บาท
  • ค่าพยานให้แก่พยาน คนละ 10 บาท
  • ค่าหลักเขต หลักละ 15 บาท

6. ค่าใช้จ่ายการรังวัดลักษณะของการเหมาจ่าย

  • ค่าพาหนะเดินทางให้แก่เจ้าพนักงาน พนักงานเจ้าหน้าที่ และคนงานจ้างไปทำการรังวัด วันละไม่เกิน 1,600 บาท
  • ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าส่งหมายข้างเคียงทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ 200 บาท
  • ค่าป่ายการให้แก่เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ หรือผู้แทนที่ไปในการรังวัด ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
  • ค่าคนงานรังวัด คน/วัน 420 บาท (ตามเขตจังหวัดที่กระทรวงการคลังกำหนด)

ทั้งนี้ การกำหนดวันทำการรังวัดตามค่าพาหนะพนักงานเจ้าหน้าที่และคนงานรังวัด และค่าคนงานรังวัด มีการกำหนดค่าธรรมเนียมรังวัดที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ ดังนี้

การรังวัดเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน

  • เนื้อที่ไม่เกิน 5 ไร่ เวลาทำการ 1 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่  3,480  บาท
  • เนื้อที่ไม่เกิน 15 ไร่ เวลาทำการ 2 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน  6,760  บาท
  • เนื้อที่ไม่เกิน 30 ไร่ เวลาทำการ 3 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน  10,040  บาท
  • เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ เวลาทำการ 4 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน  13,320  บาท

การรังวัดเกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์

  • เนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ เวลาทำการ 1 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน  2,640 บาท
  • เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ เวลาทำการ 2 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน  5,080  บาท

หมายเหตุ

  • ในกรณีเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ ทุก 50 ไร่ หรือเศษเกินกว่า 25 ไร่ ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
  • กรณีที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่องค์กรปกครองรูปแบบพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานคร/เมืองพัทยา ฯลฯ หรือเทศบาลนคร หรือเทศบาลเมือง หรือที่สวนเป็นไม้   ยืนต้น เช่น สวนผลไม้ สวนปาล์ม ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
  • กรณีการรังวัดต้องคำนวณจำกัดเนื้อที่ ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
  • กรณีการรังวัดมีที่ดินข้างเคียงมากแปลง ทุก ๆ ข้างเคียง 30 แปลง หรือเศษเกินกว่า 15 แปลง ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
  • กรณีการรังวัดแบ่งแยกจัดสรร ทุกๆ 8 แปลง หรือเศษเกินกว่า 4 แปลง ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
  • กรณีมีที่ดินเนื้อที่เกิน 50 ไร่ มีเศษเกิน 25 ไร่และที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ปกครองพิเศษหรือพื้นที่สวนไม้ยืนต้น ให้เพิ่มวันทำการรังวัดได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งเท่านั้น

บทสรุป

จบกันไปแล้วกับการทำความรู้จักรังวัดที่ดินจะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นก่อนซื้อที่ดินทุกคนอย่าลืมรังวัดที่ดินกันด้วยนะครับ นี่เป็นเพียงขั้นตอนรายละเอียดเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการรังวัดที่ดินอย่าลืมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและปรึกษาเจ้าหน้าที่กันด้วยนะครับ

สำหรับใครที่กำลังมองหาซื้อที่ดินขอนแก่นอยู่ สามารถเข้ามาเลือกชมประกาศซื้อขายที่ดินขอนแก่นได้ที่เว็บไซต์ขอนแก่นน่าอยู่ แหล่งรวมประกาศขายที่ดินสวย ๆ ทำเลฮิตในขอนแก่นกว่า 400 แห่ง และยังมีสาระน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกด้วย

อ้างอิง

กดติดตาม "ขอนแก่นน่าอยู่" เพื่อ หาบ้านมือ 1, หาคอนโด, บ้านมือ 2, ที่ดิน รวมถึงหาเช่า/หอพักทั่วเมืองขอนแก่นเพิ่มเติมได้ที่บนเว็บไซต์