“ถังเก็บน้ำ” รูปแบบต่างๆ มีทั้งข้อดีข้อเสีย และควรคำนวณถึงขนาดของถังเก็บน้ำที่เหมาะกับจำนวนคนในบ้าน บ้าน 2 ชั้นขึ้นไปส่วนใหญ่ต้องพึ่งถังเก็บน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้งานและดื่มกินในบ้าน แล้วเราจะมีวิธีเลือกถังเก็บน้ำอย่างไร ?SCG HOME จะมาเล่าให้ฟังถึงรูปแบบของถังเก็บน้ำทั้ง “ถังเก็บน้ำบนดิน” และ “ถังเก็บน้ำใต้ดิน” รวมถึงหลักการเลือกใช้และขนาดที่เหมาะสม

ถังเก็บน้ำใต้ดิน

ตัวอย่างรูป : ถังเก็บน้ำใต้ดิน DOS DUT-02/BL-1200L 1200 ลิต
ขอบคุณรูปภาพจาก SCG HOME

ข้อดีคือประหยัดพื้นที่ เหมาะกับบ้านซึ่งมีขนาดพื้นที่จำกัด เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหนือถังเก็บน้ำได้ และเนื่องจากฝังอยู่ใต้ดินอุณหภูมิของน้ำจึงไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง (ลดปัญหาเจอน้ำร้อนจัด ตอนเปิดน้ำใช้ยามสาย ๆ เที่ยง ๆ ) แต่ก็มีข้อคำนึงเรื่องการการทำความสะอาดและดูแลรักษาที่ยากกว่าถังเก็บน้ำบนดิน รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูงกว่าถังเก็บน้ำบนดิน เพราะต้องขุดดินและทำโครงสร้างใต้ดินรองรับน้ำหนักของถังเก็บน้ำด้วย ทั้งนี้ ถังเก็บน้ำใต้ดินที่นิยมใช้กัน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก และถังเก็บน้ำพลาสติก

  • ถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก มีข้อดีคือคือสามารถหล่อขึ้นรูปให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ได้ แข็งแรงทนทาน แต่มีข้อคำนึงเรื่องการรั่วซึมที่อาจเกิดขึ้นหากงานหล่อคอนกรีตไม่ได้มาตรฐาน หรือทำระบบกันซึมไม่ดี รวมถึงควรเลือกใช้วัสดุต่าง ๆ ตั้งแต่คอนกรีต วัสดุกันซึม วัสดุปิดผิวที่ไม่เป็นพิษและลดการสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรียภาพ: ถังเก็บน้ำคอนกรีตแบบฝังดิน ทั้งตัวอย่างมุมภายในแบบที่ยังไม่ปูกระเบื้อง (บนซ้าย) และตัวอย่างมุมภายนอกแบบที่ปูกระเบื้องแล้ว (บนขวาและล่าง)
  • ถังเก็บน้ำพลาสติก วัสดุที่นิยมในท้องตลาดจะมี ไฟเบอร์กลาส และ PE (โพลีเอทิลีน) สามารถซื้อมาวางได้เลยจึงติดตั้งรวดเร็วกว่าถังเก็บน้ำคอนกรีต มีความแข็งแรงทนทาน รับแรงกดและแรงกระแทกได้ดี ผลิตจากโรงงานได้มาตรฐาน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องสารพิษจากเคมีภัณฑ์ แต่เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจึงมีรูปทรงจำกัด ทำให้ต้องคำนึงเรื่องการเตรียมพื้นที่หน้างานรวมถึงโครงสร้างให้พอดีกับขนาดรูปทรงของถังเก็บน้ำภาพ: ตัวอย่างถังเก็บน้ำพลาสติก (วัสดุ PE) สำหรับติดตั้งใต้ดิน

ถังเก็บน้ำบนดิน

ตัวอย่างรูป : ถังเก็บน้ำบนดิน DOS GRANITO COM-01/SB-1500L 1500 ลิตร
ขอบคุณรูปภาพจาก SCG HOME

ข้อดีคือ ติดตั้งง่าย วางตั้งบนพื้นที่เตรียมไว้ได้เลย สามารถดูแลรักษา เคลื่อนย้าย และซ่อมบำรุงได้สะดวก แต่ก็จะกินพื้นที่ติดตั้ง เหมาะกับบ้านที่สามารถจัดสรรพื้นที่รอบบ้านได้เพียงพอ (แนะนำว่าควรเป็นที่ร่มหรือมุมที่เลี่ยงแดด เพราะหากถังเก็บน้ำโดนแดดจัดๆ นานๆ เวลาเปิดใช้ก๊อกหรือฝักบัว น้ำที่ออกมาอาจร้อนจัดได้) ทั้งนี้ ถังเก็บน้ำบนดินที่นิยมใช้ทั่วไปจะมีอยู่ 2 แบบ คือ ถังเก็บน้ำสเตนเลส และถังเก็บน้ำพลาสติก

  • ถังเก็บน้ำสเตนเลส วัสดุทนทานแข็งแรง มีขาตั้งพร้อมรูถ่ายน้ำบริเวณก้นถัง จึงทำความสะอาดภายในถังได้ง่าย ข้อคำนึงในการใช้งานของถังเก็บน้ำสเตนเลสคือ วัสดุจะไม่ทนต่อกรดด่าง จึงเหมาะกับใช้บรรจุน้ำสะอาดหรือน้ำประปาเท่านั้น ไม่ควรใช้กับพื้นที่ที่มีน้ำกร่อยหรือน้ำบาดาล และควรระวังการเกิดสนิมที่อาจขึ้นตามรอยต่อด้วย (จึงเป็นที่มาว่าต้องวางบนขาตั้ง เพื่อเลี่ยงการสัมผัสความชื้นจากดินซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสนิมได้ และยังช่วยเรื่องระบายน้ำจากก้นถังด้วย)
  • ถังเก็บน้ำพลาสติก มีรูปทรง สี ลวดลายหลากหลาย หมดปัญหาเรื่องสนิม วัสดุที่นิยมในท้องตลาดจะมี ไฟเบอร์กลาส และ PE (โพลีเอทิลีน) ปัจจุบันมีนวัตกรรมยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงนวัตกรรมพอลิเมอร์ชนิดพิเศษสำหรับผลิตถังเก็บน้ำโดยเฉพาะ (เช่น วัสดุพอลิเมอร์ Elixir ที่ได้รับรองความปลอดภัยมาตรฐานระดับโลก พร้อมคุณสมบัติต่างๆ เช่น ยับยั้งตะไคร่ ปกป้องแสงแดดและความร้อน ฯลฯ) ถังเก็บน้ำพลาสติกบางประเภท มีปั๊มน้ำอัตโนมัติอยู่ในตัวเพื่อความสะดวก ติดตั้งง่าย ช่วยประหยัดพื้นที่จัดวาง เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่น้อย และยังมีข้อดีคือ ไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาน้ำท่วมปั๊ม เนื่องจากปั๊มน้ำอยู่สูงเพราะติดตั้งอยู่บนถังเก็บน้ำ

ทั้งนี้ ถังเก็บน้ำพลาสติกจะไม่มีขาตั้ง จึงต้องติดตั้งบริเวณพื้นผิวที่เรียบสม่ำเสมอพร้อมลงโครงสร้างรับน้ำหนัก และเนื่องจากตำแหน่งรูถ่ายน้ำอยู่บริเวณด้านข้าง จึงอาจถ่ายเทตะกอนในถังได้ดีไม่เท่าถังเก็บน้ำสเตนเลส

จะเลือกขนาดถังเก็บน้ำอย่างไรดี ?

หลักการเลือกขนาดถังเก็บน้ำจะดูที่จำนวนผู้อยู่อาศัยภายในบ้านและระยะเวลาในการกักเก็บสำรองน้ำเอาไว้ใช้ อย่างเช่น ถ้าอ้างอิงจากข้อมูลของการประปานครหลวง ผู้ที่พักอาศัยในเขตนครหลวงจะใช้น้ำเฉลี่ย 200 ลิตรต่อคนต่อวัน ดังนั้นปริมาณน้ำที่ควรเก็บสำรองไว้ใช้ต่อวันควรจะเป็นตัวเลข 200 คูณด้วยจำนวนคนในบ้าน หากใช้เกณฑ์ที่ว่านี้โดยให้สำรองน้ำไว้ใช้สัก 3 วัน ก็สามารถคำนวณได้ด้วยสูตร “200 (ลิตร) x จำนวนคน x 3 (วัน)” ดังนั้น ถ้าในบ้านมีผู้อยู่อาศัย 4 คน ขนาดถังเก็บน้ำที่ควรก็ไม่ควรน้อยกว่า 200 x 4 x 3 = 2400 ลิตร เป็นต้น

เมื่อเจ้าของบ้านเข้าใจถึงรูปแบบและการเลือกขนาดถังเก็บน้ำแล้ว ก็สามารถจัดหาถังเก็บน้ำที่เหมาะสมกับจำนวนคน การใช้งาน และลักษณะพื้นที่ได้ไม่ยาก หากใช้ถังเก็บน้ำใต้ดินจะมีข้อดีเรื่องประหยัดพื้นที่ อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงน้อย แต่ติดตั้งและดูแลรักษายากกว่า ในขณะที่ถังเก็บน้ำบนดินจะติดตั้งและดูแลรักษาง่าย มีรูปแบบสีสันให้เลือกหลากหลาย แต่ก็กินพื้นที่ และควรระวังไม่ให้โดนแดดมากเพราะอาจทำให้น้ำร้อนได้

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ