ในอนาคตประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะก้าวเข้าสู่สังคมของวัยผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ อ้างอิงโดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งระบุไว้ว่า ในปี 2573 ประเทศไทยจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 21% และมีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะกลายเป็น Super Aged Society ในช่วงเวลาดังกล่าวโดยผู้สูงอายุแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่สามารถดูแลตัวเองได้ (Independent Living/Active Aging) กับกลุ่มที่ต้องมีผู้ดูแล (Assisted Living)

     การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยสูงอายุทำให้ต้องมีการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมหรือสภาพที่อยู่อาศัยเพื่อให้พร้อมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ทั้งที่อยู่อาศัยกับครอบครัวขนาดใหญ่หรือแยกครอบครัวเดี่ยว

สำหรับกลุ่มที่ดูแลตัวเองได้ การปรับปรุงสภาพแวดล้อม และที่อยู่อาศัย ให้เหมาะกับการใช้งานจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ในขณะที่กลุ่มที่ต้องมีผู้ดูแลที่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสถานบริบาลหรือ Nursing Home Care สถานบริบาล จำเป็นต้องออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมสำหรับการดูแลผู้สูงอายุเช่นกัน


เนื่องจากผู้สูงอายุแต่ละคนมีความเสื่อมถอยของร่างกายที่แตกต่างกันจึงควรคำนึงถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยที่เฉพาะและเหมาะสมกับแต่ละตัวบุคคลมากขึ้นที่พักอาศัยของผู้สูงอายุจึงควรเป็นพื้นที่ที่ออกแบบด้วยความใส่ใจเป็นพิเศษเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆได้อย่างสะดวกปลอดภัยลดความเสี่ยงต่อการลื่นล้มและอุบัติเหตุต่างๆที่จะเกิดขึ้นซึ่งจากการวิจัยพบว่าสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุดสำหรับผู้สูงอายุคือบริเวณห้องน้ำและบันได

การเตรียมที่อยู่อาศัย ให้พร้อมสำหรับผู้สูงวัย (Elderly Living Solution)

เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย รูปแบบการใช้ชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสภาวะร่างกาย จิตใจและสังคม ได้แบ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็น 3 ระดับ ตามลักษณะทางกายภาพและสมรรถนะร่างกายในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

  • ผู้สูงอายุกลุ่มสีเขียว คือผู้สูงอายุที่สามารถใช้ชีวิต หรือทำกิจกรรมทั้งในบ้าน และนอกบ้านได้ตามปกติ แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางด้านสุขภาวะในอนาคตหากไม่ป้องกันและดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง
  • ผู้สูงอายุกลุ่มสีเหลือง คือผู้สูงอายุที่เริ่มมีการเสื่อมถอยของร่างกาย หรือมีปัญหาด้านสุขภาพบ้างเล็กน้อย แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อาจต้องการอุปกรณ์ หรือผู้ช่วยเหลือในบางกิจกรรม การทำกิจกรรมภายนอกบ้านต้องได้รับการดูแลจากคนในครอบครัวมากขึ้น
  • ผู้สูงอายุกลุ่มสีส้ม คือผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวันมีความสะดวกน้อยลง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในบางกิจกรรม ต้องพึ่งพาอุปกรณ์และผู้ดูแลเป็นส่วนใหญ่ และมักใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน

การปรับปรุงพื้นที่อยู่อาศัยเป็นอีกส่วนที่สำคัญกับการรองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ โดยทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้สูงอายุที่สามารถดูแลตัวเองได้ ได้ใช้ชีวิตอย่างปกติและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของช่วงวัยผู้สูงอายุนั้น เป็นส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุได้ขยับร่างกาย ลดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง การใช้ความคิดในผู้สูงอายุจะช่วยให้ชะลอการเกิดอาการเป็นอัลไซเมอร์ แต่ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยควรมีสภาพแวดล้อมที่รองรับการใช้งานของผู้อยู่อาศัย เช่น การปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุ จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองได้โดยลดการพึ่งพาหรือขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัว

โดยหลักการออกแบบเบื้องต้น ควรคำนึงถึง “การป้องกันและลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น” “การทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายและสะดวกขึ้น” “การส่งเสริมสุขภาวะที่ดี” ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถอาศัยร่วมกับทุกคนในบ้านได้อย่างมีความสุข  หากมีที่พักอาศัยเดิมอยู่แล้วอาจไม่จำเป็นต้องปรับปรุงบ้านทั้งหลังเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุจะคุ้นเคยกับการใช้พื้นที่เดิมๆเช่นห้องนอนระเบียงหน้าบ้านเป็นต้นเราจึงควรเลือกปรับเปลี่ยนพื้นที่ตามพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุให้ปลอดภัยใช้งานได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนักยกตัวอย่างเช่น

1.ห้องนอน

  • เตียงนอนในระดับที่เหมาะสม

สรีระร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างไม่เหมือนกัน อีกทั้งร่างกายของผู้สูงอายุมีความต้องการให้ช่วยเหลือไม่เหมือนกัน อาจทำให้ต้องการเลือกขนาดเตียงนอนให้เหมาะกับผู้สูงอายุแต่ละคนเช่น ผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องนอนพักรักษา อาจจำเป็นต้องเลือกเตียงนอนที่สูงขึ้นมาแต่ยังมีที่กั้นระหว่างเตียง เพื่อป้องกันการนอนตกเตียง เพื่อพยุงตัวลุกขึ้นนั่งได้ และเพื่อให้ง่ายสำหรับการใช้งานของผู้สูงอายุและควรมีพื้นที่ว่างโดยรอบเตียงสามด้านอย่างต่ำ 90 เซนติเมตร

  • ฟูกนอน

ฟูกนอนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับการนอนของแต่ละบุคคล เพราะการเลือกฟูกนอนที่ผิดพลาด/ไม่ตรงกับลักษณะการนอนอาจทำให้เกิดอาการเพลียหรือเหนื่อยล้าขณะนอนได้ อีกทั้งอาจทำให้เกิดการกดทับได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุได้

  • ความสว่างภายในห้อง

ห้องนอนเป็นอีกห้องที่ควรมีแสงสว่างที่เหมาะสม ไม่สว่างจนเกินไป หรือมืดจนเกิดไป เพราะห้องที่สว่างจนเกิดไปอาจทำให้เกิดการสะสมความร้อน ทำให้ผู้สูงอายุเกิดการป่วยบ่อยได้ เช่นเดียวกันกับห้องนอนที่มืดจนเกิดไป แสงสว่างที่ไม่มากพออาจทำให้ห้องนอนอับชื้นได้

  • อากาศถ่ายเท

ห้องนอนที่อากาศถ่ายเทช่วยทำให้ผู้สูงอายุนอนหลับได้สบายขึ้น และนอนได้นานขึ้น

2.ห้องน้ำ

ขอบคุณภาพจาก : agecare-bathrooms.co.uk
ขอบคุณภาพจาก : agecare-bathrooms.co.uk

ห้องน้ำเป็นอีกพื้นที่ที่สำคัญในการทำธุรส่วนตัว โดยการใช้งานห้องน้ำพื้นมักจะเปียกอยู่ตลอดเวลา จนทำให้พื้นอาจเกิดการลื้นจนเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุได้

  • ประตูห้องน้ำ

การเปลี่ยนประตูห้องน้ำจากประตูแบบผลัก และกรลูกบิดมาใช้เป็นประตูแบบเลื่อน เพื่อไม่เกิดอันตรายจากการผลักประตูแล้วหกล้ม หรือประตูลูกบิดเกิดพัง คนในครอบครัวสามารถเข้าช่วยเหลือได้ทัน

  • อ่างล้างหน้า

ในกรณีที่ผู้สูงอายุใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือเช่นรถเข็น ควรเลือกใช้อ่างล้างหน้าที่ไม่มีเคาท์เตอร์หรือช่องเก็บอุปกรณ์ด้านล่าง เพื่อให้ง่ายต่อการทำธุระใช้งานบริเวณหน้ากระจก

  • การเปลี่ยนพื้นห้องน้ำ

พื้นห้องน้ำมีลักษณะที่ต้องเปียกอยู่เกือบตลอดเวลาทำให้เกิดการลื่นของพื้นได้ ดังนั้นการเปลี่ยนพื้นกระเบื้องห้องน้ำให้มีลักษณะพื้นหยาบ และแห้งง่าย จะสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยพื้นที่ส่วนอาบน้ำไม่ควรมีการลดระดับพื้นมากจนเกินไป โดยอาจใช้วิธีการยกพื้นและซ่อนรางระบายน้ำไว้ด้านล่างแทน ทำให้ระดับพื้นทั้งส่วนเปียกและส่วนแห้งเสมอกันแต่ก็ยังสามารถระบายน้ำจากการอาบน้ำได้อยู่ นอกจากนี้ควรจะมีเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำมาวางเพิ่มเติม สำหรับผู้สูงอายุบางคนที่ไม่สามารถยืนอาบน้ำนานๆได้   ส่วนฝักบัวอาบน้ำควรยึดกับก้านจับเลื่อนขึ้นลงปรับระดับในการใช้งานได้ อาจะเพิ่มราวจับเพื่อให้ผู้ใช้งานใช้ในการจับและพยุงตัวในระหว่างการอาบน้ำ

  • การติดตั้งที่ราวจับ/ไม้ค้ำ

เนื่องจากห้องน้ำเป็นบริเวณที่เปียกและอาจทำให้เกิดการลื่นได้ ดังนั้นการติดตั้งราวจับที่มั่นคง จะช่วยพยุงผู้สูงอายุลุก/นั่งหรือเดิน โดยระยะราวจับสูงจากพื้น 80 ซม. ในขณะที่มือจับประตูควรปรับเปลี่ยนจากลูกบิดมาเป็นที่เปิดปิดประตูแบบก้านโยก

  • การปรับพื้นระดับห้องน้ำ

พื้นห้องน้ำที่ต่างระดับกันอาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดการสะดุดล้มหรือพลาดจังหวะการเดินจนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ อีกทั้งการปรับระดับพื้นห้องน้ำยังช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นหรืออุปกรณ์พยุง

3.ห้องนั่งเล่น

  • อากาศถ่ายเท

ห้องนั่งเล่นเป็นอีกห้องที่ใช้ชีวิตนานรองมาจากห้องนอน และเป็นพื้นที่ส่วนกลางในการใช้ชีวิตภายในบ้าน สามารถดำเนินกิจกรรม สังสรรค์หรือพักผ่อน ดังนั้นการมีอากาศที่ถ่ายเทอยู่ตลอดเวลา นอกจากทำให้บ้านปลอดโปรงแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุแข็งแรง ลดอาการป่วยได้อีกด้วย

  • แสงสว่างที่เหมาะสม

ทำให้ภายในบ้านไม่มืดจนเกินไป ลดการใช้สายตาเพ่ง/จ้องมองจนเป็นสาเหตุให้เกิดการวิงเวียนศรีษะได้ แสงสว่างที่เพียงพอจะช่วยลดอากาศอับชื้นภายในบ้านได้ ตลอดจนช่วยประหยัดค่าไฟภายในบ้าน

  • เฟอร์นิเจอร์ ลดมุมขอบเหลี่ยม หรือแตกหักง่าย

เฟอร์นิเจอร์ที่ลดมุม ขอบ เหลี่ยม ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการเดินชน/เตะ หากเกิดอุบัติเหตุหกล้มเฟอร์นิเจอร์ที่มีมุมขอบมนจะช่วยให้ผู้สูงอายุเกิดการบาดเจ็บที่น้อยลง ควรมีหลายขนาดและหลายระดับความสูง คนที่มีความสูงต่างกันจะได้เลือกนั่งเก้าอี้ตัวที่นั่งสบาย ไม่ปวดหลังเพราะเกร็ง หรือต้องทนปวดหัวเข่าเวลาที่นั่งงอหัวเข่ามากๆ โดยเมื่อนั่งแล้วให้เข้าทำมุม 90 องศา ฝ่าเท้าแนบพื้น และควรมีที่วางแขน เพื่อสะดวกในการนั่ง และลุกขึ้นยืน

  • สวิตซ์และปลั๊กไฟฟ้า

ควรติดตั้งให้กระจายอยู่ในจุดที่เข้าถึงได้สะดวกมีแสงสว่างส่องถึง ระดับของสวิตช์ไฟฟ้า ไม่ควรสูงเกินไปเพื่อให้ผู้สูงอายุกดได้สะดวกโดยไม่ต้องเอื้อม ความสูงที่ประมาณ 120 เซนติเมตรจากพื้น ส่วนระดับปลั๊กไฟฟ้าต้องไม่ต่ำเกินไปเพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุต้องก้มลงไปมาก ความสูงที่ประมาณ 90 เซนติเมตรจากพื้น

4.ห้องครัว

  • ภาชนะมีความทนทานและเบา

ภาชนะใส่อาหารอาจอยู่ในรูปแบบของการจับ ตัก ยกถือ หรือวางไว้บนโต๊ะ แต่ขณะทำความสะอาดภาชนะเหล่านี้อาจอาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดอันตรายได้ เช่น ภาชนะที่ทำมาจากแก้ว แก้วมีความเปราะบางแตกหักง่าย ขณะถือหรือทำความสะอาดอาจทำให้หล่นตกแตะ หรือภาชนะที่ทำมาจากเซรามิค ที่มีความเงา ลื่นและหนัก อาจทำให้ขณะใช้งานหรือทำความสะอาดเกิดการบาดเจ็บที่ข้อมือได้ เป็นต้น

  • โต๊ะ มีระดับที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไป

ผู้สูงอายุบางคนจำเป็นต้องใช้รถเข็น เมื่อต้องการใช้พื้นที่บริเวณโต๊ะ โต๊ะจึงจำเป็นต้องมีความสูงพอเหมาะ ระดับโต๊ะและเคาน์เตอร์ควรสูงจากพื้น 80 เซนติเมตร เพื่อที่จะสามารถเข็นรถเข้าไปใช้งานพื้นที่นั้นได้

  • เคาท์เตอร์อยู่ในระดับพอเหมาะ และหยิบจับได้ง่าย

บริเวณเคาท์เตอร์ ซิงค์ล้างจาน ที่เก็บภาชนะ หรือเตาแก๊ส ฯลฯ ควรเป็นบริเวณที่สามารถเอื้อมหยิบจับได้ ไม่ควรอยู่สูงหรือต่ำจนเกินไป เพราะอาจทำให้ขณะที่ใช้งานอาจเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น ภาชนะหล่นจากเคาท์เตอร์ เป็นต้น

  • อุปกรณ์มีความปลอดภัย

อุปกรณ์ภายในห้องครัวส่วนอาจมีความแหลมคมและอาจทำให้เกิดอันตารยได้ เช่น มีด หรือภาชนะที่แตกหักได้ง่ายฯลฯ ควรเก็บภาชนะให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม หลังใช้งานแล้วไม่ควรวางไว้บริเวณนั้นเลย ควรเก็บไว้เพื่อความปลอดภัย

5.พื้นที่สวน/ระเบียงสวน

การมีพื้นที่สีเขียว สวนขนาดเล็ก หรือสวนเรือนกระจก เป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมเล็กๆระหว่างวัน อีกทั้งพื้นที่สีเขียวให้บ้านน่าอยู่มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

  • พื้นไล่ระดับ/ทางลาด

พื้นบริเวณทางเชื่อมระหว่างตัวบ้านและสวน ควรเป็นพื้นที่เชื่อมเดินผ่านได้เลย เพื่อความสะดวกในการเดินในทางระดับเดียวกัน หรือมีทางลาดเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเดินขึ้น-ลงได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ผู้สูงอายุอาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้รถเข็น ทางลาดก็เป็นทางเลือกที่ดีที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถออกมาจากตัวบ้านเพื่อทำกิจกรรมหรือรับแสงแดด

  • มีทางเดินที่กว้างพอเหมาะ

ผู้สูงอายุมีความจำเป็นที่ต้องใช้พื้นที่ในการเดินพอสมควร หากทางเดินแคบเพราะมีสิ่งของระหว่างทางเดินมากเกินไป อาจทำให้ผู้สูงอายุหกล้มไปโดนสิ่งของเหล่านั้นได้

  • พื้นกระเบื้องทางเดิน

6.สภาพแวดล้อมรอบบ้าน

  • ทางเดินระดับเดียวกัน

ทางเดินระดับเดียวกัน ช่วยให้ผู้สูงอายุเดินได้สะดวก ไม่เหนื่อยหอบง่าย และทั้งนี้หากทางเดินเป็นบันไดควรมีราวจับหรือมีทางลาดเพื่อพยุงตัวและอำนวยความสะดวกในการเดิน ควรติดตั้งราวจับที่มีความสูงประมาณ 80-90 เซนติเมตร

  • ตรวจเช็คต้นไม้รอบๆบ้าน

ประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อนชื้น ในช่วงฤดูฝน มีพายุเข้าอาจทำให้บ้านที่มีต้นไม้ใหญ่เกิดอุบัติเหตุ เช่น กิ่งไม้หักหรือต้นไม้โค่นล้มลง อาจทำให้บ้านเกิดความเสียหายหรือผู้สูงอายุในบ้านอาจได้รับบาดเจ็บได้

7.เทคโนโลยี

  • สมาร์ทโฟนที่ช่วยจดจำตารางการใช้ชีวิตหรือนัดหมาย

ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถจดจำและเตือนนัดหมายได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอาการอัลไซเมอร์ การมีสมาร์ทโฟนก็สามารถช่วยเตือนตารางต่างๆได้ เช่น แจ้งเตือนกินยา , แจ้งเตือนทานอาหาร หรือแจ้งเตือนทำธุระส่วนตัว ฯลฯ เป็นต้น

  • อุปกรณ์สมาร์ทโฮม ช่วยอำนวยความสะดวกภายในชีวิต ทำให้กิจกรรมลดการใช้พลังงาน เช่น การติดตั้งเวลาการรดน้ำสนามหญ้าที่มีขนาดใหญ่จนเกินไป
  • ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หรือ Emergency Call Bell ไว้บริเวณห้องนอน หัวเตียง ในห้องน้ำ หรือแม้แต่ห้องนั่งเล่น และเชื่อมต่อไปยังกริ่งส่งเสียงเตือนที่ติดตั้งในทุกๆ จุดของบ้าน เพื่อให้คนในครอบครัวสามารถเข้าช่วยเหลือผู้สูงอายุได้ทัน

บทความอื่นๆ

สำหรับใครที่ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารดีๆที่จะช่วยตอบโจทย์ในการช่วยคุณที่พักอาศัย
กดติดตาม "ขอนแก่นน่าอยู่" หาบ้าน ที่ดิน คอนโด หอพัก ทั่วเมืองขอนแก่น‌‌🏡🏡 ทั้งบ้านมือ1, มือ2 เพิ่มเติมได้ที่‌‌
⭕️ Website : www.nayoo.co (ไม่มี m)
‌‌⭕️ Facebook : ขอนแก่นน่าอยู่‌‌
⭕️ YouTube : https://www.youtube.com/c/khonkaennayoo

อย่าพลาด โปรโมชั่นพิเศษ

หาที่อยู่ คิดถึง "ขอนแก่นน่าอยู่"

ใช้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย