ทำอย่างไรดี? เมื่อถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด

ใครที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้เหมือนเดิม และกำลังเสี่ยงโดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาดตามมาทางนี้เลยครับ น้องน่าอยู่ทราบดีว่าการถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดทำให้หลายคนหนักใจและปวดหัวเลยทีเดียว ดังนั้นในบทความนี้น้องน่าอยู่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักการยึดทรัพย์ขายทอดตลาด, ข้อควรรู้เมื่อกำลังจะโดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาด, เมื่อบ้านถูกยึดขายทอดตลาดไปแล้ว ควรทำอย่างไร , ไขข้อสงสัยว่าคดียึดทรัพย์อายุความกี่ปีและแนวทางทำอย่างไรไม่ให้โดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยครับ

ยึดทรัพย์ขายทอดตลาด คืออะไร

ก่อนอื่นเราไปดูกันเลยครับว่าการยึดทรัพย์ขายทอดตลาด คืออะไร การยึดทรัพย์ขายทอดตลาด คือ การที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้กับเจ้าหนี้ได้ ลูกหนี้จึงถูกฟ้องร้องและกรมบังคับคดีจะยึดทรัพย์สิน หรือยึดบ้านของเรานำไปขายทอดตลาด โดยเป็นการประมูลขาย เพื่อนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้คืนให้กับเจ้าหนี้นั่นเองครับ

สำหรับใครที่ทำความรู้จักบ้านหลุดธนาคารเพิ่มเติม สามารถตามไปอ่านต่อที่ ทำความรู้จักบ้านหลุดธนาคาร พร้อมขั้นตอนการซื้อ กันได้เลยครับ

ข้อควรรู้เมื่อกำลังจะโดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาด

ต่อมาเราไปดูข้อควรรู้เมื่อกำลังจะโดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาดกันเลยครับ ซึ่งก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ‘การบังคับคดีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล’ เช่น ถ้าศาลตัดสินแล้วว่าน้องน่าอยู่ที่เป็นลูกหนี้จะต้องนำเงินมาใช้หนี้ให้กับคุณขอนแก่นในจำนวนที่ตกลงกันไว้ แต่สุดท้ายแล้วน้องน่าอยู่ไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ตามคำสั่งศาลได้ภายใน 30 วัน จึงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีที่จะต้องมีการสืบทรัพย์ ยึดบ้านและยึดทรัพย์สินขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้นั่นเอง ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ เราจะโดนยึดทรัพย์ได้เลยนะครับ เมื่อเข้าใจแล้ว เราไปดูรายละเอียดต่าง ๆ ที่ควรรู้กันเลยครับ

เจ้าหนี้ยึดทรัพย์อะไรได้บ้าง

การยึดทรัพย์เป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ ที่จะต้องไปสืบเองว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินอะไรอยู่ที่ไหน และสามารถยึดอะไรได้บ้าง จากนั้นจึงค่อยมาแจ้งต่อศาลหรือกรมบังคับคดีให้ทำการออกหมายเพื่อยึด ทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งทรัพย์จะมีทั้งของที่ยึดได้และของที่ยึดไม่ได้ เราไปดูกันเลยครับว่าเจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์อะไรของเราได้บ้าง โดยทรัพย์ที่สามารถยึดได้ มีดังนี้

  • สิ่งของมีค่า เช่น เครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็น เพชร พลอย นาฬิกา และของสะสมที่มีมูลค่า
  • บ้าน ที่ดิน
  • รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ และไม่ได้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ
  • เงินในบัญชีเงินฝาก หรือเงินปันผลจากการลงทุน
  • ทรัพย์สินที่เป็นการลงทุน เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุน
  • เงินเดือนจากการทำงานของลูกหนี้ที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องมีรายได้เกินกว่า 20,000 บาทต่อเดือน

สำหรับทรัพย์สินที่ยึดไม่ได้ ได้แก่ ของใช้ส่วนตัว, เครื่องใช้ในครัวเรือน, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องมือประกอบอาชีพ และรายรับของราชการ โดยหลักๆแล้วทรัพย์สินที่ไม่สามารถยึดได้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพ เพื่อให้บุคคลนั้นๆยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้นั่นเองครับ และในกรณีมีเจ้าหนี้หลายรายห้ามยึดทรัพย์สินซ้ำกัน เจ้าหนี้รายใดยึดก่อนก็ได้สิทธิก่อนนะครับ

เจ้าหนี้อายัดทรัพย์อะไรได้บ้าง

เมื่อเราเรียนรู้เกี่ยวกับการยึดทรัพย์กันไปแล้ว ต่อไปเราไปเรียนรู้เกี่ยวกับการอายัดทรัพย์กันเลยครับ การอายัดทรัพย์มีหลักการและกระบวนการเดียวกับการยึดทรัพย์ แต่อายัดทรัพย์จะเกิดขึ้นในกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดนั่นเอง โดยเจ้าหนี้จะต้องไปสืบว่าลูกหนี้ทำงานอะไร ที่ไหน เงินเดือนและโบนัสเป็นอย่างไร เพื่อทำการอายัดเงินเดือน อายัดโบนัส อายัดค่าล่วงเวลารวมถึงค่าตอบแทนอื่นๆ เป็นต้น โดยหลักการของการอายัดทรัพย์ มีดังนี้ครับ

  • อายัดเพียง 30% ของเงินเดือนหรือค่าจ้าง โดยคิดจากรายได้ก่อนหักภาษีและหักประกันสังคม แต่ถ้าลูกหนี้เงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ห้ามเจ้าหนี้อายัดเงินเดือน หรือเมื่อถูกอายัดแล้วมีเงินเหลือน้อยกว่า 10,000 บาทก็ห้ามอายัดเงินเดือน
  • การอายัดเงินเดือนหรือค่าจ้างเพียง 30% สามารถลดหย่อนได้หากลูกหนี้มีความจำเป็น เช่น ต้องเลี้ยงดูครอบครัว หรือมีโรคประจำตัว เป็นต้น
  • อายัดโบนัสได้ 50%
  • อายัดค่าคอมมิชชั่นได้ 30%
  • หากลูกหนี้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของรัฐห้ามเจ้าหนี้อายัดเงินเดือน
  • กรณีที่มีเจ้าหนี้หลายราย ห้ามอายัดเงินเดือนลูกหนี้เพิ่มหากมีเจ้าหนี้รายอื่นอายัดเงินเดือนลูกหนี้ไปแล้ว

คดียึดทรัพย์อายุความกี่ปี

มาถึงการไขข้อสงสัยของคำถามที่หลายคนสงสัยว่าคดียึดทรัพย์อายุความกี่ปี เมื่อเราโดนฟ้องยึดทรัพย์อายุความกี่ปี คำตอบก็คือ 10 ปีครับ เมื่อเจ้าหนี้ชนะคดีในศาล และลูกหนี้ไม่มีเงินมาคืนเจ้าหนี้ภายใน 30 วัน ทรัพย์สินของเราจะโดนนำไปขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ หากยังเหลือยอดหนี้เจ้าพนักงานก็จะยึดทรัพย์อย่างอื่นเพิ่มเติมเพื่อขายทอดตลาดและนำเงินมาใช้หนี้ต่อไปจนกว่ายอดหนี้จะหมดภายใน 10 ปี หากพ้นระยะเวลานี้แล้ว ไม่ว่าลูกหนี้จะมีเงินหรือมีทรัพย์สินเพิ่มเติม เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์ของลูกหนี้ได้

เมื่อบ้านถูกยึดขายทอดตลาดไปแล้ว ควรทำอย่างไร?

ใครที่บ้านโดนยึดขายทอดตลาดไปแล้ว ไม่ต้องกังวลไปนะครับ เพราะลูกหนี้ยังมีสิทธิที่จะอยู่ในบ้านหลังเดิมได้จนกว่าจะมีเจ้าของรายใหม่มาซื้อ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะนำป้ายมาติดประกาศขายแล้วก็ตาม แต่ถ้าอยู่ต่อแล้วทำให้บ้านทรุดโทรมหรือเสียหาย เจ้าหน้าที่ก็มีสิทธิ์ที่จะสั่งระงับการใช้งานบ้านนั้น ๆ ได้เช่นกัน และถ้าหากลูกหนี้ไม่อยากเสียทรัพย์นั้นไป ลูกหนี้มีสิทธิที่จะเข้าร่วมการประมูล เพื่อเสนอราคาสู้และซื้อบ้านกลับมาเป็นของตัวเองได้นะครับ โดยลูกหนี้ควรศึกษารายละเอียดและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการประมูล ซึ่งสามารถศึกษาได้ในบทความด้านล่างเลยครับ

สำหรับใครที่อยากศึกษาการประมูลขายทอดตลาดเพิ่มเติม สามารถตามไปอ่านที่ วิธีประมูลที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี ฉบับเข้าใจง่าย อัปเดท 2567 กันได้เลยครับ

แนวทางทำอย่างไรไม่ให้โดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาด

ก่อนจากกันไปน้องน่าอยู่มีแนวทางทำอย่างไรไม่ให้โดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาดมาฝากทุกคนกัน น้องน่าอยู่แนะนำว่าก่อนทำการกู้ยืมใด ๆ ให้วางแผนและพิจารณาความสามารถทางการเงินของเราให้ดี เพราะหากมีการผิดชำระหนี้ นอกจากจะทำให้เราเสียประวัติเครดิตบูโรแล้ว ยังทำให้การจะกู้อะไรในอนาคตก็ทำได้ยากขึ้นเนื่องจากเรามีประวัติชำระหนี้ที่ไม่ดี และการผิดชำระหนี้อาจส่งผลทำให้โดนยึดทรัพย์ ซึ่งหากเรายังไม่โดนบังคับคดี แนะนำว่าให้พูดคุยไกล่เกลี่ย หรือขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการขอลดดอกเบี้ยหรือขอขยายระยะเวลากู้

สำหรับใครที่คิดว่าบ้านของเราอยู่ในทำเลที่ดี ขายง่าย เราสามารถขายบ้านและนำเงินมาปิดหนี้ได้เช่นกัน แถมอาจได้ราคาดีกว่าการปล่อยประมูลขายทอดตลาดและอาจได้กำไรมากกว่าหนี้สินที่ติดค้างอยู่ด้วยครับ

สำหรับใครที่อยากศึกษาเกี่ยวกับการขายบ้านติดธนาคาร สามารถตามไปอ่านที่ บ้านติดธนาคารอยู่ ขายได้ไหม? กันได้เลยครับ

บทสรุป

จบกันไปแล้วกับการทำความรู้จักทำความรู้จักการยึดทรัพย์ขายทอดตลาด , ไขข้อสงสัยว่าคดียึดทรัพย์อายุความกี่ปีและแนวทางทำอย่างไรไม่ให้โดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาดที่น้องน่าอยู่นำมาฝากทุกคนกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครที่กำลังโดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาดจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ขายทอดตลาดกันมากขึ้นนะครับ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราควรวางแผนการเงินและชำระหนี้ให้ตรงเวลา เพื่อป้องกันการโดนยึดทรัพย์นั่นเอง อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ทุกคนอย่าลืมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเมื่อโดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาดกันด้วยนะครับ

สำหรับใครที่กำลังมองหาซื้อบ้านเดี่ยวและคอนโดอยู่ สามารถเข้ามาเลือกชมโครงการบ้านใหม่พร้อมอยู่ และโครงการคอนโดได้ที่เว็บไซต์น่าอยู่ แหล่งรวมประกาศขายบ้านเดี่ยว โครงการบ้านจัดสรรและคอนโด แนะนำโครงการใหม่พร้อมอยู่ทุกทำเล ที่มาพร้อมกับดีไซน์ สไตล์บ้านที่หลากหลาย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ที่คุณชอบ มีให้เลือกกว่า 1,300 โครงการและยังมีสาระน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการบ้านที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกด้วย

บทความแนะนำ

อ้างอิง

กดติดตาม "น่าอยู่" เพื่อ หาบ้านมือ 1, หาคอนโด, บ้านมือ 2, ที่ดิน รวมถึงหาเช่า/หอพักทั่วประเทศเพิ่มเติมได้ที่บนเว็บไซต์