บ้านทรุด หรือ ปัญหาพื้นรอบบ้านทรุด ไม่ว่าจะเป็นพื้นคอนกรีตหรือพื้นดิน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาโพรงใต้บ้านและรอยแตกร้าวของพื้นบ้านนั้น นับเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะบ้านที่สร้างบนที่ดินที่ถมมาไม่นาน หรือที่ตรงนั้นเป็นน้ำมาก่อน อย่างไรก็ตามปัญหานี้ก็น่าจะทำให้เจ้าของบ้านหลาย ๆ คนกังวลใจอยู่ไม่น้อย บ้านจะร้าวไหม? บ้านจะทรุดลงไปหรือเปล่า? วันนี้ SCG HOME จะมาเล่าที่ไปที่มาของปัญหานี้และไขข้อสงสัยให้ได้ฟังกันค่ะ

พื้นที่รอบบ้านทรุด เป็นสัญญาณของปัญหาบ้านทรุดหรือเปล่า?

ก่อนอื่นเลย ต้องนึกภาพว่าพื้นผิวดินที่เราสร้างบ้านกันโดยทั่วไปแล้วนั้น มักจะเป็น "ชั้นดินอ่อน" ในขณะที่ "ชั้นดินแข็ง" จะอยู่ลึกลงไปใต้ชั้นดินอ่อนอีกที ชั้นดินอ่อนมักจะทรุดตัวง่าย เวลาสร้างบ้านจึงต้องลงโครงสร้างฐานรากพร้อมเสาเข็ม ให้ลึกลงไปจนถึงชั้นดินแข็ง เพื่อเป็นการพยุงตัวบ้านไม่ให้ทรุดตัวลง

ส่วนพื้นดินบริเวณรอบบ้านซึ่งไม่มีอะไรรองรับ เมื่อเกิดการทรุดตัว ระดับดินก็จะต่ำลงห่างจากส่วนของบ้านเราไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดเมื่อระดับดินรอบๆ บ้านต่ำกว่าระดับท้องคานบ้าน และดินรอบบ้านบางส่วน ไหลลงไปอยู่ใต้ตัวบ้าน จึงเป็นที่มาของโพรงใต้บ้านนั่นเอง

ภาพ: ดินรอบบ้านทรุดจนเกิดโพรงใต้บ้าน
ขอบคุณภาพจาก : SCGHOME.COM

แก้ปัญหาโพรงใต้บ้าน โดยผู้เชี่ยวชาญจาก SCG คลิก

ส่วนพื้นรอบบ้านที่เป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก จะมีบางส่วนที่หล่อแยกกับตัวบ้านโดยไม่มีเสาเข็มรองรับ หรือถ้ามีก็เป็นเสาเข็มสั้นความยาวไม่เกิน 6 เมตร ซึ่งยังอยู่ในระดับชั้นดินอ่อนเท่านั้น หากเทียบกับตัวบ้านซึ่งลงเสาเข็มลึกไปถึงชั้นดินแข็ง (ประมาณ 17-23 ม. สำหรับเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล) พื้นรอบบ้านจึงย่อมทรุดเร็วกว่าตัวบ้านและอาจเกิดการแตกร้าวได้ง่าย

ภาพ: พื้นรอบบ้านทรุดตัวเร็วตามอัตราการทรุดของชั้นดินอ่อน ส่วนบ้านซึ่งลงเสาเข็มลึกจนถึงชั้นดินแข็งจะทรุดช้ากว่า
ขอบคุณภาพจาก : SCGHOME.COM

ภาพ: เมื่อดินทรุดรอบบ้าน ก็อาจทำให้พื้นรอบบ้านที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเกิดทรุดตามไปด้วยจนแตกร้าว
ขอบคุณภาพจาก : SCGHOME.COM

เมื่อพื้นรอบบ้านทรุด ไม่ได้แปลว่าบ้านจะทรุดตาม

แม้ว่าพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กรอบบ้านเราจะทรุดจนแตกร้าว หรือเห็นโพรงใต้บ้าน ให้เข้าใจว่าพื้นส่วนนี้จะทรุดไปตามชั้นดินอ่อน ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับตัวบ้านซึ่งมีเสาเข็มรองรับลึกไปถึงชั้นดินแข็ง เจ้าของบ้านจึงสบายใจได้เลยว่า ตัวบ้านของเราไม่ได้จะทรุดจะพังตาม กรณีที่ตัวบ้านเกิดปัญหาจะมีสัญญาณอื่นแสดงถึงความผิดปกติด้านโครงสร้าง เช่น ตัวบ้านและพื้นในบ้านมีการเอียงทรุดตัวไปด้านในด้านหนึ่ง มีรอยร้าวที่โครงสร้าง เสาหรือคาน เกิดรอยร้าวแนวเฉียงบนผนัง หากพบสัญญาณเหล่านี้ควรรีบปรึกษาวิศวกรโครงสร้างอย่างเร่งด่วน

ภาพ: การแตกร้าวของโครงสร้างเสาคาน คือสัญญาณที่แสดงถึงอันตรายของโครงสร้างบ้าน ควรรีบปรึกษาวิศวกรเพื่อหาทางแก้ไข
ขอบคุณภาพจาก : SCGHOME.COM

พื้นรอบบ้านทรุดจนแตกร้าวหรือเกิดโพรงใต้บ้าน ควรทำอย่างไร ?

แม้ปัญหาพื้นรอบบ้านทรุดจะไม่ได้ทำให้บ้านทรุดตัวหรือพังตาม แต่โพรงใต้บ้านที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าปล่อยไว้ก็จะดูไม่สวยงาม และอาจเป็นที่หลบซ่อนของสัตว์มีพิษต่าง ๆ ได้ ส่วนพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่แตกร้าวนอกจากจะไม่สวยงามแล้วยังทำให้ใช้งานไม่สะดวก อาจเกิดการสะดุดล้มเป็นอันตรายได้ จึงเป็นปัญหาที่เจ้าของบ้านไม่ควรละเลย

ในการแก้ไขแนะนำให้พิจารณาอัตราการบ้านทรุดประกอบควบคู่กันไป สำหรับบ้านที่อายุไม่เกิน 3 ปี ดินรอบตัวบ้านมักทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง ควรแก้ไขแบบชั่วคราวไปก่อน จนกว่าอัตราการทรุดจะชะลอลง หรือสังเกตจากการทรุดตัวไม่เกินปีละ 10 ซม. หากเกินกว่านี้ จึงค่อยคิดแก้ไขแบบถาวร

แก้ปัญหาโพรงใต้บ้าน โดยผู้เชี่ยวชาญจาก SCG คลิก

แก้ปัญหาดินทรุดรอบบ้านจนเกิดโพรงใต้บ้าน

1.กรณีพื้นที่รอบบ้านมีแนวโน้มทรุดตัวเร็ว

อาจแก้ไขชั่วคราว โดยการวางกระถางต้นไม้ หรือขอบคันหินวางปิดโพรงไปก่อน โดยตกแต่งต้นไม้เพิ่มเติมให้ดูสวยงามได้ด้วย กรณีที่พื้นรอบบ้านเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ยุบตัวไปพร้อมกับดิน หากสภาพพื้นยังดีไม่แตกร้าวเสียหายอาจใช้อีกวิธี คือก่อผนังอิฐปิดช่องโพรงก็ได้

ภาพ: ตัวอย่างการปิดโพรงใต้บ้านแบบชั่วคราวด้วยกระถางต้นไม้ (ซ้ายบน) หรือขอบคันหิน (ขวาบน) ทั้งนี้อาจประยุกต์โดยวางขอบคันหิน 2 แถว และใส่ดินตรงกลางทำเป็นกระบะปลูกต้นไม้
ขอบคุณภาพจาก : SCGHOME.COM

ซื้อขอบคันหินกับ SCG คลิก

ซื้อกระถางต้นไม้กับ SCG คลิก

ภาพ: ตัวอย่างการก่ออิฐปิดโพรงใต้บ้าน กรณีพื้นรอบบ้านเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่แตกร้าว
ขอบคุณภาพจาก : SCGHOME.COM

2.กรณีพื้นรอบบ้านมีอัตราการทรุดตัวช้าลง

สามารถแก้ไขแบบถาวรโดยให้ผู้เชี่ยวชาญใช้วัสดุอุดเติมโพรงใต้บ้าน หรือปิดด้วยวัสดุแผ่นที่มีความแข็งแรงอย่างไฟเบอร์ซีเมนต์ พร้อมระบบการยึดที่แข็งแรงเพื่อป้องกันดินไหลเข้าใต้โพรงบ้าน

ภาพ: บริการแก้ปัญหาโพรงใต้บ้านแบบถาวรโดยมืออาชีพ 2 วิธี ได้แก่ การเติมวัสดุอุดโพรง และการปิดโพรงใต้บ้านวัสดุแผ่น
ขอบคุณภาพจาก : SCGHOME.COM

แก้ปัญหาโพรงใต้บ้าน โดยผู้เชี่ยวชาญจาก SCG คลิก

3.แก้ปัญหากรณีพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กทรุดแตกร้าวเสียหาย

โดยปกติแล้วเมื่อพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กแตกร้าว จะต้องทุบรื้อพื้นทั้งหมดออกและหล่อพื้นใหม่ ในกรณีอาจลงเสาเข็มสั้นด้วย เพื่อชะลอการทรุดตัว ซึ่งถ้าหากพื้นดินยังคงทรุดอย่างรวดเร็วอยู่ พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่หล่อใหม่ก็อาจจะเกิดปัญหาแตกร้าวได้อีกในอนาคตอันใกล้

ในกรณีนี้อาจจะเปลี่ยนมาใช้ "บล็อกปูพื้น" จะดูคุ้มค่ากว่า เพราะสามารถปูลงพื้นดินได้โดยตรง หากเกิดการทรุดตัวของดินก็สามารถแก้ไขอย่างง่ายโดยรื้อออก ปรับหน้าดินจากนั้นก็ทำการใช้บล็อกชุดเดิมปูลงพื้นใหม่ ข้อดีของบล็อกปูพื้นนี้คือมีความแข็งแรง สามารถปูได้บนหลากหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นหญ้า ที่จอดรถ บนพื้นดิน และพื้นที่อเนกประสงค์ทั่วไป สามารถสร้างแพทเทิร์นลวดลายได้ตามใจชอบ สำหรับใครที่ชอบพื้นหญ้าก็สามารถเลือกใช้บล็อกสนามหญ้า ซึ่งมีช่องพื้นที่สำหรับปลูกหญ้าได้ด้วย

ภาพ: การหล่อเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กภายนอกบ้าน (บนซ้าย) และการตกแต่งผิวพื้นด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ คอนกรีตพิมพ์ลาย (บนขวา) กระเบื้องคอนกรีต (ล่างซ้าย) และกระเบื้องเซรามิก (ล่างขวา)
ขอบคุณภาพจาก : SCGHOME.COM

ภาพ: ตัวอย่างการใช้บล็อกปูพื้นลวดลายต่างๆ (บน) และบล็อกสนามหญ้า (ล่าง)
ขอบคุณภาพจาก : SCGHOME.COM

บริการหล่อเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตกแต่งผิวพื้นภายนอก และติดตั้งบล็อกปูพื้น คลิก  

ซื้อบล็อกปูพื้นและกระเบื้องคอนกรีต คลิก

เมื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปแล้ว จะเห็นว่าดินรอบบ้านทรุดไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร อย่างน้อยก็สบายใจได้ระดับหนึ่งว่า แม้พื้นรอบบ้านทรุดจนเกิดปัญหาโพรงใต้บ้านหรือพื้นคอนกรีตแตกร้าวก็ตาม แต่หากไม่ได้มีสัญญาณที่แสดงถึงอันตรายของโครงสร้าง บ้านของเราก็จะยังอยู่ดี ไม่ได้จะทรุดหรือพังตามกันไปในเร็ว ๆ นี้

ขอนเเก่นน่าอยู่ขอแนะนำให้เจ้าของบ้านหันมาหาวิธีอุดปิดโพรง หรือปรับปรุงพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่แตกร้าวให้เรียบร้อย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของอัตราการทรุดตัวของดินรอบบ้านเป็นสำคัญเพื่อป้องกันปัญหาบ้านทรุดที่อาจจะเกิดขึ้น

ขอบคุณบทความจาก : พื้นรอบบ้านทรุด แตกร้าว เห็นโพรงใต้บ้าน...บ้านจะทรุดจนพังไหม ?

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ