10 เทคนิคดูแลบ้านรับหน้าฝนยังไง ไม่ให้กลายเป็นผู้ประสบภัย
น้องพิษณุโลกน่าอยู่นำเทคนิคดูแลบ้านรับหน้าฝนยังไง ไม่ให้กลายเป็นผู้ประสบภัย
ซึ่งหลายคนอาจเริ่มรู้สึกกังวลว่าจะกลายเป็นผู้ประสบภัยเพราะฝนสาด หลังคารั่ว น้ำซึมเข้าบ้าน แต่หากว่าเราเตรียมพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้า ด้วยการตรวจเช็กส่วนต่าง ๆ ของบ้านอย่างรอบคอบ ก็จะสามารถรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนได้อย่างมั่นใจ รอดพ้นจากการเป็นผู้ประสบภัยในช่วงหน้าฝน โดยมี 10 เทคนิคดูแลบ้าน และเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือกับหน้าฝนที่ดังต่อไปนี้
.
1. ตรวจสอบจุดรั่วซึมบนหลังคา
เริ่มต้นจากส่วนที่สำคัญที่สุดของบ้าน นั่นคือหลังคา เพราะหากหลังคารั่ว อาจจะส่งผลเสียหายใหญ่ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นฝ้าเพดาน เฟอร์นิเจอร์ พื้นที่เป็นไม้ ไปจนถึงโครงสร้างบ้าน ควรตรวจดูว่ามีกระเบื้องหลังคาที่ชำรุดหรือแตกร้าวหรือไม่ หากพบให้รีบซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ทันที การปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้น้ำรั่วซึมเข้าบ้านได้ง่ายส่งผลให้เกิดความเสียหายในระยะยาว
2. สำรวจผนัง ฝ้า และเพดาน
ไม่เพียงแค่หลังคาที่ต้องตรวจสอบความรั่วซึม แต่ควรจะตรวจสอบจุดเสี่ยงต่อการที่ฝนจะซึมเข้ามาภายในบ้าน โดยเฉพาะผนัง ฝ้า และเพดาน มองหารอยร้าวหรือจุดที่อาจเป็นทางให้น้ำซึมผ่านได้ หากพบให้รีบอุดรอยรั่วด้วยวัสดุที่เหมาะสม เพื่อป้องกันบ้านไม่ให้เสียหาย
3. เช็กช่องว่างของประตูและหน้าต่าง
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ซีลบริเวณขอบประตูและหน้าต่างมีอายุการใช้งานแตกต่างกันออกไป บางตัวมีอายุการใช้งานไม่ถึง 5-10 ปีก็มี ทำให้ต้องตรวจสอบซีลกันรั่วซึมรอบ ๆ ประตูและหน้าต่าง หากพบว่าเสื่อมสภาพหรือหลุดร่อน ให้เปลี่ยนใหม่เพื่อป้องกันน้ำฝนและความชื้นเล็ดลอดเข้ามาภายในบ้าน นอกจากนี้ การตรวจสอบช่องว่างของประตูและหน้าต่างภายในบ้านยังช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศในช่วงหน้าร้อน ไม่ให้ความเย็นออกไปภายนอกตัวบ้านอีกด้วย
4. ทำความสะอาดท่อระบายน้ำและรางน้ำ
นอกจากการตรวจดูจุดที่หลังคารั่ว หรือฝนสาดแล้ว แนะนำให้ดูแลขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำรอบบ้าน รวมถึงรางน้ำบนหลังคา เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก ไม่เกิดการอุดตันจนน้ำท่วมขัง ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา
5. ดูแลต้นไม้รอบบ้าน
สำหรับบ้านที่ปลูกต้นไม้เอาไว้รอบตัวบ้าน ก่อนเข้าช่วงหน้าฝนอย่าลืมตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่ที่ยื่นเข้ามาใกล้ตัวบ้าน เพราะนอกจากกิ่งไม้จะตีกับกระจกหรืออาคารบ้านแล้ว ในกรณีที่รากหรือลำต้นไม่แข็งแรง ช่วงที่มีพายุฝนรุนแรงอาจหักโค่นได้ ดังนั้น หากพบต้นไม้ที่โค่นล้มง่าย ควรตัดทิ้งหรือเสริมเสาค้ำยันเพื่อความปลอดภัย
6. ตรวจเช็กระบบไฟฟ้า
ไม่ว่าบ้านจะอยู่ในเขตพื้นที่ที่น้ำท่วมถึงหรือไม่ ก็ควรจะสำรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟทั้งภายในและภายนอกบ้าน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีจุดที่ชำรุดหรือเสี่ยงต่อการรั่วซึม หากพบปัญหาให้รีบแก้ไขหรือเรียกช่างมาดูแล เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจร หรือไฟดูดได้
7. ติดตั้งหรือซ่อมแซมกันสาด
สำหรับบ้านที่ไม่มีกันสาด และโดนฝนสาดบ่อย ๆ อาจจะทำให้บ้านชื้น รั่วซึม หรือมีน้ำฝนกระเซ็นเข้ามาในบ้าน ก่อความเสียหายได้ แนะนำให้ติดตั้งกันสาดหรือหลังคาเพิ่มเติมในจุดที่ฝนมักสาดเข้ามา เพื่อลดปัญหารั่วซึมภายในบ้าน
8. จัดเก็บสิ่งของนอกบ้านให้เรียบร้อย
ข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์สนามที่อยู่ภายในบ้าน และเสี่ยงต่อความเสียหาย แนะนำให้นำมาเก็บเอาไว้ในที่ร่ม หรือที่ที่ไม่โดนฝนสาดถึง หรือคลุมด้วยผ้าใบกันน้ำจะช่วยยืดอายุการใช้งานและป้องกันความเสียหายในช่วงหน้าฝนได้
9. เตรียมอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม
สำหรับบ้านใครที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ควรเตรียมอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมไว้ล่วงหน้า เช่น กระสอบทราย แผ่นกั้นน้ำ หรือเครื่องสูบน้ำ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันท่วงที และหากว่าใครที่ปลั๊กไฟอยู่ในพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง แนะนำให้ย้ายไปอยู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น เพื่อความปลอดภัย
10. ทำความสะอาดรอบบ้าน
ทำความสะอาดบริเวณรอบบ้าน ไม่ให้มีน้ำท่วมขังหรือมีตะไคร่น้ำเกาะตามพื้นผิวต่าง ๆ นอกจากจะช่วยให้บ้านดูสะอาดสวยงามแล้ว ยังช่วยป้องกันอุบัติเหตุลื่นล้มในช่วงหน้าฝนได้อีกด้วย
.
สรุป
การเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือกับหน้าฝนไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ใส่ใจในรายละเอียดและหมั่นตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยและสบายใจตลอดฤดูฝน เป็นยังไงบ้างครับสำหรับเทคนิคในการดูแลบ้านหน้าฝนที่น้องพิษณุโลกน่าอยู่นำมาฝากในวันนี้
.
ครั้งหน้าน้องพิษณุโลกน่าอยู่จะนำบทความสาระดีๆ อะไรมาฝากอีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ
.
สามารถติดตามพวกเราได้ที่
เฟซบุ๊ก : พิษณุโลกน่าอยู่
Youtube : Phitsanulok Nayoo
Tiktok : พิษณุโลกน่าอยู่
โทร : 063-1939253
บทความแนะนำ