เช็กรอยร้าวผนัง แบบไหนที่ควรกังวล และส่งผลเสีย พร้อมทางแก้ไข

การเกิดรอยร้าวบนผนังอาจสร้างความกังวลใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากเรื่องของความสวยงามแล้ว ยังมีเรื่องของความปลอดภัยที่น่ากังวล วันนี้น้องพิษณุโลกน่าอยู่ จะพามาทำความเข้าใจในการซ่อมแซมรอยร้าวผนังยังไงให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด จะมีวิธีสังเกตุ และแนวทางแก้ไขอะไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้วมาอ่านกันต่อเลยครับ

.

สาเหตุของรอยร้าวเกิดจากอะไร

เช็กรอยร้าวผนัง แบบไหนที่ควรกังวล และส่งผลเสีย พร้อมทางแก้ไข

บ้าน และอาคารโดยส่วนใหญ่จะต้องประสบพบเจอกับปัญหารอยร้าวผนังขึ้นมาเมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่ง รอยแตกบนผนังส่วนใหญ่จะเป็นรอยแตกร้าวที่เกิดจากการทรุดตัวตามธรรมชาติ เพราะตัวอาคารจะมีการขยับ และขยายตัว เพื่อรองรับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดรอยแตกร้าวเล็กน้อยบนผนัง โดยบริเวณที่พบเห็นได้บ่อยคือรอยร้าวบริเวณมุมหน้าต่าง และบานประตู แต่ก็มีสาเหตุอื่นๆ ด้วยเช่นกันที่ก่อให้เกิดรอยร้าว ซึ่งน้องพิษณุโลกน่าอยู่ รวบรวมมาได้ ดังนี้

  • รอยร้าวที่เกิดจากความชื้น
  • รอยร้าวที่เกิดจากการทรุดตัวของการขุดดิน
  • มีการคำนวณการรองรับน้ำหนักของอาคารที่ผิดพลาด
  • การเติบโตของรากต้นไม้
  • การสั่นสะเทือนของการจราจรบนท้องถนน
  • มีการติดตั้งท่อระบายน้ำเสีย
  • สภาพภูมิอากาศ

.

ลักษณะและประเภทของรอยร้าว

เมื่อรู้ที่มาที่ไปของสาเหตุที่ก่อให้เกิดรอยร้าวผนังแล้ว ขั้นตอนต่อไป มาสังเกตดูกันว่า ประเภทของรอยร้าวรูปแบบไหนที่เป็นอันตราย และต้องได้รับการซ่อมแซมโดยด่วน

(1) รอยร้าวผนังแบบแตกลายงา

รอยร้าวแบบแตกลายงา เป็นรอยร้าวผนังที่สามารถพบเห็นได้บ่อยมากที่สุด โดยสาเหตุหลักๆ มาจาก การผสมปูนที่ไม่ได้สัดส่วน การฉาบปูนจากช่างที่ไม่มีความชำนาญมากพอ ไม่ได้บ่มน้ำก่อนฉาบปูนกับวัสดุอย่างอิฐมวลเบาที่มีความยืดหยุ่นกว่าอิฐปกติ จึงก่อให้เกิดรอยร้าวบนผนังแบบลายงาได้ โดยรอยร้าวลักษณะนี้ไม่เป็นอันตราย ไม่ส่งผลต่อโครงสร้างภายใน แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานเพราะเมื่อเกิดฝนตก ผนังจะกักเก็บความชื้นไว้ ทำให้ผนังบวม เกิดปัญหาสีลอกร่อน และเชื้อราได้

(2) รอยร้าวผนังแบบแนวทแยง/เฉียงกลางผนัง

รอยร้าวผนังแบบแนวทแยง หรือแบบเฉียงกลางผนัง สามารถสันนิษฐานได้ว่าเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับฐานรากของตัวบ้าน เป็นรอยร้าวที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน โดยสาเหตุอาจเกิดจาก เสาบางต้นในบ้านมีการทรุดตัว ทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักได้ดีเหมือนเดิม ส่งผลให้ผนังเกิดการแตกร้าวลงมา การต่อเติมบ้านที่ไม่เป็นไปตามหลักการ ส่งผลให้เสาเดิมในบ้านไม่สามารถรับน้ำหนักได้ โดยรอยร้าวลักษณะนี้ถือเป็นรอยร้าวที่เป็นอันตราย เพราะจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าผนังจะเริ่มพังลงมาแล้ว ฉะนั้นควรรีบปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน เพื่อหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

(3) รอยร้าวเฉียงๆ ตามมุมขอบวงกบ

รอยร้าวแบบต่อไปคือ รอยร้าวเฉียงๆ ตามมุมขอบวงกบบริเวณหน้าต่าง หรือบานประตู โดยให้สังเกตดูว่า หากรอยไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็สามารถสันนิษฐานได้ว่าเกิดการยืดขยายของวงกบหน้าต่าง หรือบานประตู ที่อาจจะเกิดมาจากสภาพอากาศที่เมื่ออุณหภูมิสูงก็อาจทำให้โครงสร้างภายในมีการขยายตัว หากมีอุณหภูมิต่ำก็ทำให้โครงสร้างมีการหดตัวได้ โดยรอยร้าวลักษณะนี้ถือว่าไม่รุนแรง สามารถซ่อมแซมได้เอง

เช็กรอยร้าวผนัง แบบไหนที่ควรกังวล และส่งผลเสีย พร้อมทางแก้ไข

(4) รอยร้าวผนังแนวดิ่งกลางคาน

หากรอยร้าวเป็นแบบแนวดิ่งกลางผนัง รอยร้าวแนวตั้งจะมีลักษณะของรอยที่กว้างช่วงบน หรือแคบลงมา รอยร้าวนี้แสดงถึงปัญหาของโครงสร้างภายในอาคาร อย่างคานที่รับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้หินหรืออิฐภายในผนังดันตัวจนเกิดเป็นรอยร้าว การคำนวณน้ำหนักโครงสร้างที่ผิดพลาด ทำให้อาคารรับน้ำหนักได้ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยรอยร้าวลักษณะนี้เป็นอันตราย ควรเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญมาซ่อมแซมโดยด่วน และให้ทำการย้ายของจากชั้นบนลงมาเพื่อเป็นการถ่ายเทน้ำหนักในเบื้องต้นก่อน

(5) รอยร้าวแนวเฉียงที่หัวเสา (ลามไปถึงคาน)

รอยร้าวผนังประเภทต่อมาคือ รอยร้าวแนวเฉียงที่หัวเสา ที่อาจลามไปถึงคาน รอยร้าวนี้จะมีลักษณะทั้งแบบแนวเฉียง หรือแนวดิ่ง โดยมักจะเกิดขึ้นกับปลายทั้งสองข้างของคาน สาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากการที่คานไม่สามารถรับน้ำหนักได้ไหว หรือการที่คานต้องรับน้ำหนักที่มากเกินกว่าที่คำนวณมาในตอนแรก ทำให้เสาและคานแยกตัวออกจากกัน รอยร้าวลักษณะนี้มีอันตราย อาจเป็นสาเหตุให้บ้านหรืออาคารถล่มลงมาได้ ควรเรียกผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแก้ไขโดยด่วน

(6) รอยร้าวบนพื้น

รอยร้าวบนพื้นจะมีลักษณะร่องรอยที่แตกต่างกันไป บ่งบอกถึงปัญหาที่แตกต่างกัน โดยเราจะขอหยิบยกมา 2 ประเภทให้ได้สังเกตกันคือ หากรอยร้าวบนพื้นมีลักษณะเป็นรอยร้าวแนวเฉียงเข้าหาเสาทั้งสี่มุม สามารถสันนิษฐานได้ว่าพื้นมีการแอ่นตัว เพราะต้องรองรับน้ำหนักที่มากเกินไป รอยร้าวบนพื้นรูปแบบต่อไปคือเป็นแนวเส้นตรง หรือเป็นรูปตีนกา สามารถสันนิษฐานได้ว่าตัวคอนกรีตอาจมีการยืดและหดตัวตามสภาพภูมิอากาศ หากเป็นรอยลึกให้ระมัดระวังในเรื่องของการรั่วซึม เพราะอาจส่งผลต่อโครงสร้างของเหล็กภายใน ที่อาจก่อให้เกิดสนิม และแตกร้าวออกมาได้

.

วิธีสังเกตความเสียหายของรอยร้าว

เช็กรอยร้าวผนัง แบบไหนที่ควรกังวล และส่งผลเสีย พร้อมทางแก้ไข

เมื่อทำความรู้จักกับรอยร้าวทั้ง 6 ประเภทกันแล้ว ให้คุณลองออกไปสำรวจตามจุดต่างๆ ของบ้านกันดู หากไม่แน่ใจว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้นเป็นอันตรายหรือไม่ เราแนะนำให้คุณเอาดินสอขีดแล้วลงวันที่เอาไว้ เพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงของรอยแตกร้าวนั้นว่ามีการขยายตัวไปในลักษณะใด พร้อมกับลงบันทึกขนาดของรอย ทั้งทางยาวและทางกว้าง ทีนี้เราก็จะสามารถสังเกตได้ง่ายขึ้นว่า ร่องรอยนั้นมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากน้อย และรวดเร็วแค่ไหน เพื่อให้เราสามารถซ่อมแซมรักษาได้อย่างทันท่วงที

.

วิธีการแก้ไข/ซ่อมแซม/ป้องกันรอยร้าวบนผนัง

เช็กรอยร้าวผนัง แบบไหนที่ควรกังวล และส่งผลเสีย พร้อมทางแก้ไข
  • เลือกจ้างผู้รับเหมาที่น่าเชื่อถือ ทำงานละเอียด
  • ดูแลดินบริเวณบ้านให้ดี
  • หลีกเลี่ยงการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนเยอะๆ บริเวณรอบตัวบ้าน หรือเว้นระยะการปลูกต้นไม้ให้ห่างจากตัวบ้านประมาณอย่างน้อย 5-10 เมตร

รอยร้าวบนผนังส่งผลต่อโครงสร้างบ้านอย่างไรบ้าง?

ปัญหาเรื่องรอยร้าวบนผนังอาจเป็นปัญหากวนใจของใครหลายคน แต่ที่จริงแล้ว รอยร้าวบนผนังมีหลายแบบ โดยจะมีเฉพาะรอยร้าวบนผนังบางรูปแบบเท่านั้น ที่สามารถส่งผลต่อโครงสร้างบ้านได้ โดยรายละเอียดของรอยร้าวของผนังแบบต่างๆ มีดังต่อไปนี้

รอยร้าวแนวดิ่งกลางผนัง

หากบ้านมีรอยร้าวแนวดิ่งกลางผนัง แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างคานที่อยู่เหนือผนังบ้านเกิดการแอ่นตัว ซึ่งอาจจะมีสาเหตุการร้าวมาจากการออกแบบ หรือมีการก่อสร้างที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม รอยร้าวแนวดิ่งกลางผนังนั้น อาจเกิดจากการใช้งานก็เป็นได้ ในกรณีที่คานรับน้ำหนักมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการวางของที่มีน้ำหนักมากหรือมีแทงค์น้ำอยู่ด้านบน ก็อาจทำให้คานที่อยู่เหนือผนังสามารถแอ่นตัวลงมากดทับกลางผนัง ทำให้เกิดรอยร้าวในแนวดิ่งได้ ซึ่งยิ่งคานแอ่นตัวมาก ตัวคานก็จะปรากฎรอยร้าวเป็นรูปตัวยู

รอยร้าวแนวเฉียงกลางผนัง

หากบ้านมีรอยร้าวแนวเฉียงกลางผนัง และรอยร้าวนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  สามารถมองเห็นชัดเจน บ้านอาจจะมีปัญหาเรื่องฐานรากอาคาร โดยเกิดการทรุดตัวที่ไม่เท่ากัน แต่ถ้ารอยร้าวแนวเฉียงกลางผนังมีหน้าต่างกั้นร้าวไปในทางเดียวกัน มุมวงกบประตู หรือหน้าต่างที่มีรอยร้าวเฉียงสั้นๆ ตามมุมต่างๆ โดยรอยร้าวไม่ได้ร้าวในทางเดียวกัน ลักษณะแบบนี้อาจไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้าง เพราะรอยร้าวชนิดนี้เกิดจากการยืดขยายตัวของวงกบประตูเมื่อผนังได้รับความร้อน จนมีอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง

.

ซ่อมรอยร้าวบนผนังได้ด้วยตัวเอง

สำหรับผนังที่มีรอยร้าวบางประเภทนั้น สามารถซ่อมรอยแตกร้าวผนังปูนนั้นได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องมั่นใจก่อนจะซ่อมรอยแตกร้าวผนังปูนว่ารอยร้าวบนผนังนั้น รอยเร้าบนผนังมีอันตรายหรือไม่ และต้องเลือกใช้วัสดุซ่อมรอยแตกร้าวผนังที่ถูกต้อง ด้วยวิธีซ่อมที่เหมาะสม โดยต้องการซ่อมรอยแตกร้าวผนังปูนเองแล้ว สามารถลองทำตามวิธีการเบื้องต้นนี้ดูได้

เริ่มต้นสำรวจรอยร้าวบนผนัง

รอยร้าวบนผนังนั้นเกิดขึ้นได้ในทุกๆ จุดของบ้าน ซึ่งเราสามารถจำแนกความรุนแรงของผนังที่แตกร้าวได้ดังต่อไปนี้

รอยร้าวแตกลายงาบนผนังหรือเสา

รอยร้าวแตกลายงาเกิดจากการหดตัวของปูนซึ่งฉาบที่ไม่ได้คุณภาพสูญเสียความชื้น หรืออาจเกิดจากแรงสะเทือนที่ส่งผลให้พื้นผิวแยกตัว แต่รอยแตกชนิดนี้นั้นไม่เป็นอันตราย ยกเว้นจะเป็นรอยลึกจนหัวปากกาเข้าไปได้ ถึงจะต้องเรียกช่างเข้ามาตรวจ

รอยร้าวระหว่างเสากับผนังหรือตามขอบมุม

รอยร้าวผนังชิดขอบวงกบประตู หน้าต่าง ขอบเสา ขอบคาน และขอบเพดานของผนังประกบกันไม่สนิทนั้น ไม่ว่าจะเป็นแนวนอนหรือแนวตั้ง เกิดจากการหดตัวของปูนจนเกิดการแตกกะเทาะ ซึ่งไม่เป็นอันตรายอย่างใด ซึ่งสามารถซ่อมแซมเองได้

รอยร้าวผนังแนวดิ่งจากขอบเพดาน

หากรอยร้าวผนังนั้นดิ่งจากขอบเพดาน นั่นหมายความว่าผนังรับน้ำหนักด้านบนไม่ไหว ทำให้ผนังเกิดการทรุดตัวลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อผนังและโครงสร้าง ควรย้ายของออกจากด้านบนโดยด่วน จากนั้นเรียกช่างเข้ามาตรวจงานให้เร็วที่สุด

รอยร้าวผนังแนวทแยงจากด้านมุม

การที่บ้านมีรอยร้าวแนวทแยงจากมุม เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า ฐานรากของบ้านกำลังทรุดตัว โดยอาจจะเกิดจากการต่อเติมบ้านเข้ากับโครงสร้างเดิม แต่ฐานรากทรุดตัวไม่เท่ากัน ต้องเรียกช่างเข้ามาตรวจสอบโดยทันที

รอยร้าวบนเสาและคานบ้าน

หากเสามีรอยแตกร้าวจนปูนกะเทาะ หรือคานแตกร้าวดูแล้วเหมือนแอ่นกลางเหมือนจะหัก นี่เป็นสัญญาณเตือนว่าโครงสร้างบ้านกำลังจะถล่มลงมา ต้องรีบย้ายของด้านบนออก และเรียกวิศวกรเข้ามาแก้ไขงานในทันที

ทำการซ่อมรอยร้าวผนัง

รอยร้าวบนผนังที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองได้ มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ

  • รอยร้าวผนังแบบแตกกะเทาะ ให้สกัดเอาปูนส่วนที่แตกร้าวออกมา แล้วทำความสะอาดพื้นผิว จากนั้นจึงนำปูนใหม่อุดเข้าไปให้เต็ม หรือใช้โป๊วปิดรอยร้าวและกาวซิลิโคนร่วมด้วย
  • รอยร้าวผนังแบบแตกลายงา หากรอยแตกลายงามีขนาดเล็กให้ใช้สีที่มีความยืดหยุ่นสูงทาทับ แต่ถ้ามีขนาดใหญ่ให้ใช้ปูนตกแต่งผนังฉาบทับ จากนั้นติดวอลล์เปเปอร์ทับลงไปเพื่อให้ไม่เห็นรอยร้าว

ปัญหาที่ตามมา หากไม่ซ่อมรอยร้าวบนผนัง

การที่ผนังมีรอยร้าว นั่นแปลว่าบ้านกำลังมีปัญหา จึงควรพิจารณาซ่อมแซมรอยร้าวผนังโดยเร็ว แม้จะไม่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องทำในทันที แต่ถ้าหากไม่ซ่อมรอยร้าวบนผนัง อาจมีปัญหาตามมาและส่งผลกระทบมากมายมหาศาล ดังนี้

  • รอยร้าวบนผนังในบ้านเกิดความไม่สวยงาม
  • โครงสร้างบ้านมีปัญหาหรืออาจเกิดการถล่ม
  • เกิดปัญหาการรั่วซึมจากรอยร้าวบนผนังจนผนังกะเทาะ

.

สรุป

รอยร้าวปัญหาที่อาจจะฟังดูเล็ก แต่บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย รอยร้าวผนังอาจเป็นสาเหตุให้บ้าน และอาคารถล่มลงมาได้ เป็นยังไงกันบ้างครับสำหรับบทความสาระน่ารู้ดีๆที่น้องพิษณุโลกน่าอยู่นำมาฝาก แต่ที่สำคัญกว่านั้น หากรูปแบบของรอยร้าว ไปเข้าข่ายกับรอยร้าวที่เป็นอันตราย อย่างที่น้อง พิษณุโลกน่าอยู่ ได้บอกข้างต้นไป ควรเรียกช่างหรือวิศวกรเข้ามาดูและรักษาหรือซ่อมแซมจะดีกว่านะครับ เพื่อป้องกันผลเสียที่อาจจะก่อให้เกิดในอนาคตได้

.

ครั้งหน้าน้องพิษณุโลกน่าอยู่จะนำบนความสาระดี ๆ อะไรเกี่ยวกับเรื่องบ้านมาฝาก อย่าลืมกดติดตามกันไว้นะครับ

สามารถติดตามพวกเราได้ที่

เฟซบุ๊ก : พิษณุโลกน่าอยู่
Youtube : Phitsanulok Nayoo
Tiktok : พิษณุโลกน่าอยู่
โทร : 063-1939253

บทความแนะนำ