"พระราชวังจันทร์" สถานที่บันทึกเรื่องราว ประวัติศาสตร์เมืองสองแคว

สถานที่ที่บันทึกเรื่องราว ประวัติศาสตร์เมืองสองแคว

ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่บันทึกเรื่องราวประวัติ ความเป็นมาของเมืองสองแควในอดีต เมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มาตั้งแต่สมัยขอม คำว่า "สองแคว" มาจากที่ตั้งของเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือแม่น้ำน่านกับแม่น้ำแควน้อย  แต่ปัจจุบันแม่น้ำแควน้อยเปลี่ยนเส้นทางออกห่างจากตัวเมืองไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันลงไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร (ที่ตั้งวัดจุฬามณีในปัจจุบัน)

ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์

ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก

เป็นอาคารไว้จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับ "พระราชวังจันทน์" เมืองพิษณุโลกและพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เช่น บันทึกประวัติศาสตร์ 9 ศตวรรษ เมืองพิษณุโลก ศิลปกรรมและงานช่างหลวงพิษณุโลก แบบจำลองวัดสำคัญ 3 วัด ในเขตพระราชวังจันทน์

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2552 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงพระสุหร่ายพระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร(จำลอง) และทรงเปิดป้ายอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2558

ภายในอาคารจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองพิษณุโลก พระราชวังจันทน์ และการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แบ่งส่วนจัดแสดงเป็น

  1. พิษณุโลก : เมืองประวัติศาสตร์สำคัญ ที่ตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำน่าน เป็นการแสดงภาพรวมของจังหวัดพิษณุโลก
  2. การแสดงลักษณะทางกายภาพ : ภูมิศาสตร์และข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดพิษณุโลก
  3. บันทึกประวัติศาสตร์ 9 ศตวรรษ เมืองพิษณุโลก : เป็นการแสดงเรื่องราวของเมืองพิษณุโลกในระยะ 900 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่กำเนิดเมืองสองแควจนถึงปัจจุบัน โดยเทียบเคียงระยะเวลากับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์โลก
  4. พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร (จำลอง)
  5. ศิลปกรรมและงานช่างหลวงพิษณุโลก แสดงเรื่องราวทางด้านศิลปกรรมชิ้นเอกของเมืองพิษณุโลก เช่น พระพุทธชินราช โบราณสถานสำคัญของเมืองพิษณุโลก เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดจุฬามณี วัดเจดีย์ยอดทอง
  6. จัดแสดงแบบจำลองวัดสำคัญ 3 วัด ในเขตพระราชวังจันทน์ ได้แก่ วัดโพธิ์ทอง วัดศรีสุคต และวัดวิหารทอง
  7. แบบจำลองพระราชวังจันทน์ 3 สมัย และแบบจำลองวัตถุโบราณ
  8. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช : จากเจ้าฟ้าพระองค์น้อยแห่งวังจันทน์ สู่พระมหาวีรบุรุษของชาติไทย แสดงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระมหาวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อแสดงความเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ โดยมีการจำลองพระมาลาเบี่ยง  พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง  พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงทวน และพระแสงของ้าวแสนพลพ่าย
  9. ห้องนิทรรศการหมุนเวียน จัดแสดงโครงการการพัฒนาพระราชวังจันทน์ และแบบจำลองพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์

โบราณสถานแนวกำแพงพระราชวังจันทน์

โบราณสถาน "พิษณุโลก"

นอกจากนี้บริเวณโดยรอบยังมีโบราณสถาน ยังมี “วัดโพธิ์ทอง” สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเช่นกัน โดยเจดีย์ประธานของวัดแห่งนี้ เหลือร่องรอยเพียงส่วนฐานซึ่งผ่านงานบูรณะของกรมศิลปากร โดยมีเค้าว่าอาจเป็นฐานของเจดีย์ทรง พุ่มข้าวบิณฑ์ หรือ เจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม อันเป็นหลักฐานที่เชื่อมโยงเมืองพิษณุโลกกับราชธานีสุโขทัย ด้านหน้าทางตะวันออกและทางตะวันตกของเจดีย์ประธาน มีซากฐานอาคารก่อด้วยอิฐ มีหลุมเป็นแนว สำหรับปักเสาไม้ สันนิษฐานว่าเป็นอาคารทรงมณฑป ด้านหลังวัดมีเพียงร่องรอยของซากฐาน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม โดยอาจมีอาคารขนาดเล็กอยู่ด้านหน้า เช่นเดียวกับเจดีย์ ทรงระฆังที่อยู่เยื้องไปด้านหน้าทางตะวันออก

ถัดไปมีวัดโบราณอีกแห่งคือ “วัดวิหารทอง” เป็นวัดขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ส่วนบนของเจดีย์ประธานได้ทลายลงมาแล้ว เหลือเพียงฐาน อันเป็นรูปแบบของฐานเจดีย์ทรงปรางค์ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการกำหนดอายุของวัด นอกจากนั้นด้านหน้าเจดีย์ประธานยังมีซากฐานอาคารขนาดใหญ่สองหลัง ซึ่งยังคงเหลือเสาก่อด้วยศิลาแลง ทำให้สามารถ ประมาณความสูงของหลังคาได้ ร่องรอยของระเบียงคดที่ล้อมเจดีย์ประธานและอาคารที่ยื่นออกมา ทางด้านหน้าอาจมีความเกี่ยวข้องกับการจัดวางตำแหน่งอาคารตามลักษณะของผังวัดในสมัยอยุธยา

และยังมี “วัดศรีสุคต” สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยพิจารณาฐานเจดีย์ ซึ่งประดิษฐาน พระพุทธรูปปางมารวิชัยภายในบริเวณจระนำซุ้มอยู่บริเวณกึ่งกลางทั้งสี่ด้าน รวมทั้งแถวพระสาวกยืนพนมมือ ภายในจะนำซุ้มรอบฐานเจดีย์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสมัยสุโขทัย ส่วนรูปแบบสันนิษฐานของเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบอยุธยา ด้านหน้าเจดีย์ประธานพบซากอาคาร สันนิษฐานว่าเป็นวิหาร ส่วนบริเวณโดยรอบเจดีย์ประธาน น่าจะมีเจดีย์ราย ตามรูปแบบผังวัดในสมัยอยุธยา

"จังหวัดพิษณุโลก" นอกจากจะเป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติสวย ๆ แล้ว ก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อยู่หลายที่ รอให้คุณมาค้นหา และศึกษาประวัติศาสตร์ ใครเป็นสายท่องเที่ยวแนวประวัติศาสตร์ !!รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน!!

สามารถติดตามพวกเราได้ที่

เฟซบุ๊ก : พิษณุโลกน่าอยู่

โทร : 063-1939253

บทความแนะนำ

"พิษณุโลกน่าอยู่" ครบทุกเรื่องที่อยู่ของคนพิษณุโลก

หาบ้าน ที่ดิน หอพัก บริษัทรับสร้างบ้าน ครบ จบ ในเว็บเดียว