หน่วยวัดอสังหาริมทรัพย์มีหลากหลายและมีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกันออกไป เพื่อไม่ให้เป็นการสับสน ในบทความนี้น่าอยู่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักหน่วยวัดอสังหาริมทรัพย์ พร้อมสูตรและเครื่องมือที่จะช่วยในการคำนวณกัน หลังอ่านบทความนี้จบรับรองว่ามีความเข้าใจขึ้นแน่นอนครับ

ประโยชน์ของการวัดที่ดิน

ประโยชน์ของการวัดที่ดิน

การวัดที่ดินมีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งช่วยให้เราสามารถตั้งราคาซื้อขายที่ดินได้อย่างเหมาะสม ช่วยในการวางแพลนออกแบบเพื่อการก่อสร้าง ไปจนถึงการออกแบบตกแต่งภายใน ซึ่งการวัดที่ดินและรู้ว่าที่ดินของเรามีขนาดเท่าไหร่จะช่วยดำเนินการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้เราจะวัดที่ดินและคำนวณพื้นที่คร่าว ๆ ด้วยตัวเองแล้ว เพื่อความแม่นยำควรทำการรังวัดที่ดิน เพื่อตรวจสอบว่าขนาดของที่ดินของเราตรงกับที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินหรือไม่ โดยสามารถยื่นขอรังวัดที่ดินได้ที่สำนักงานที่ดิน และควรทำการรังวัดที่ดินทุก 10 ปี

สำหรับใครที่อยากศึกษาเกี่ยวกับการรังวัดที่ดินเพิ่มเติม สามารถตามไปศึกษากันได้ที่ ชวนรู้จักรังวัดที่ดินพร้อมขั้นตอนและค่าใช้จ่ายรังวัดที่ดิน กันได้เลยครับ

ทำความรู้จักหน่วยวัดพื้นที่และการแปลงหน่วยวัด

ทำความรู้จักหน่วยวัดพื้นที่และการแปลงหน่วยวัด

หลายคนอาจเคยได้ยินหน่วยวัดที่ดินมาผ่าน ๆ บ้างแล้ว หรืออาจเคยเรียนวิธีการคำนวณตอนสมัยมัธยมกัน และอาจหลง ๆ ลืม ๆ กันไปบ้างแล้ว วันนี้มาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กับน่าอยู่กันเลยครับ

หน่วยวัดที่ดิน

หน่วยวัดในไทยที่ใช้หลัก ๆ ได้แก่ ไร่, งาน และตารางวา เป็นหน่วยวัดที่ใช้ระบุในโฉนดที่ดินว่าที่ดินนี้มีพื้นที่เท่าไหร่ ซึ่งหน่วยวัดที่ใหญ่ที่สุดคือไร่ รองลงมาคืองาน และเล็กสุด คือ ตารางวา

หน่วยวัดมักมีการเขียนระบุเป็น “ไร่-งาน-ตารางวา” เช่น ที่ดินผืนนี้มีขนาด 5-2-50 จะหมายถึงว่า ที่ดินผืนนี้มีขนาด 5 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวานั่นเอง นอกจากนี้เรายังสามารถคำนวณแปลงหน่วยต่าง ๆ ได้ ดังนี้

ตัวอย่างการคำนวณระหว่างไร่และงาน

สิ่งที่ควรรู้ คือ 1 ไร่ เท่ากับ 4 งาน

  • หากมีที่ดินขนาด 50 ไร่ และต้องการรู้ว่าที่ดินจำนวนนี้เท่ากับกี่งาน คำนวณได้ดังนี้

1 ไร่ เท่ากับ 4 งาน ดังนั้น ที่ดินขนาด 50 ไร่ จะได้ 50 x 4 = 200 งาน

  • หากมีที่ดินขนาด 200 งาน และต้องการแปลงเป็นหน่วยไร่ คำนวณได้ดังนี้

4 งาน เท่ากับ 1 ไร่ ดังนั้น ที่ดินขนาด 200 งาน จะได้ 200 ÷ 4 = 50 ไร่

ตัวอย่างการคำนวณระหว่างไร่และตารางวา

สิ่งที่ควรรู้ คือ 1 ไร่ เท่ากับ 400 ตารางวา

  • หากมีที่ดินขนาด 50 ไร่ และต้องการรู้ว่าที่ดินจำนวนนี้เท่ากับกี่ตารางวา คำนวณได้ดังนี้

1 ไร่ เท่ากับ 400 ตารางวา ดังนั้น ที่ดินขนาด 50 ไร่ จะได้ 50 x 400 = 20,000 ตารางวา

  • หากมีที่ดินขนาด 20,000 ตารางวา และต้องการแปลงเป็นหน่วยไร่ คำนวณได้ดังนี้

400 ตารางวา เท่ากับ 1 ไร่ ดังนั้น ที่ดินขนาด 20,000 ตารางวา จะได้ 20,000 ÷ 400 = 50 ไร่

ตัวอย่างการคำนวณระหว่างงานและตารางวา

สิ่งที่ควรรู้ คือ 1 งาน เท่ากับ 100 ตารางวา

  • หากมีที่ดินขนาด 200 งาน และต้องการรู้ว่าที่ดินจำนวนนี้เท่ากับกี่ตารางวา คำนวณได้ดังนี้

1 งาน เท่ากับ 100 ตารางวา ดังนั้น ที่ดินขนาด 200 งาน จะได้ 200 x 100 = 20,000 ตารางวา

  • หากมีที่ดินขนาด 20,000 ตารางวา และต้องการแปลงเป็นหน่วยไร่ คำนวณได้ดังนี้

100 ตารางวา เท่ากับ 1 งาน ดังนั้น ที่ดินขนาด 20,000 ตารางวา จะได้ 20,000 ÷ 100 = 200 งาน

สรุปหน่วยวัด

หน่วยวัดพื้นที่ใช้สอย

หน่วยวัดพื้นที่ใช้สอยมักนิยมนับเป็นหน่วยตารางเมตร และใช้กับการคำนวณพื้นที่ห้องในคอนโดหรือวัดพื้นที่ใช้สอยในบ้าน เป็นสิ่งสำคัญที่ควรศึกษาเพราะเป็นประโยชน์ในการคำนวณการก่อสร้างหรือการตกแต่ง เพราะผู้รับเหมาบางรายอาจคิดค่าก่อสร้างเป็นราคาต่อตารางเมตร

พื้นที่ใช้สอยจะวัดพื้นที่ที่อยู่ในอาคาร เช่น พื้นที่ในตัวบ้าน ระเบียงบ้าน พื้นที่จอดรถใต้หลังคา พื้นที่ซักล้างใต้หลังคาเท่านั้น ไม่นับรวมพื้นที่หลังคา ซึ่งมีสูตรคำนวณพื้นที่ใช้สอย ดังนี้

พื้นที่ใช้สอย = ความกว้าง x ความลึก

ตัวอย่างการคำนวณพื้นที่ใช้สอย

ห้องนั่งเล่นในบ้านน้องน่าอยู่มีความกว้าง 4 เมตร ความลึก 5 เมตร ดังนั้นห้องนั่งเล่นบ้านน้องน่าอยู่มีพื้นที่ใช้สอย 4 x 5 = 20 ตารางเมตร

โดยเราสามารถคำนวณเองคร่าว ๆ ได้โดยใช้ตลับเมตรและคำนวณตามวิธีข้างต้น หากต้องการความแม่นยำควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือจ้างบริษัทที่น่าเชื่อถือมาวัดพื้นที่เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการก่อสร้างหรือออกแบบตกแต่งต่อไป

สูตรคำนวณพื้นที่ที่ควรรู้

สูตรคำนวณพื้นที่ที่ควรรู้

หลังจากเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับหน่วยวัดที่ดินกันไปแล้ว ต่อไปจะเป็นการคำนวณพื้นที่ในเบื้องต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้เราสามารถคำนวณพื้นที่ได้คร่าว ๆ ด้วยตัวเองก่อนไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือคำนวณราคาขายคร่าว ๆ เพราะราคาประเมินจะเป็นราคาต่อตารางวานั่นเอง โดยสูตรเบื้องต้นที่ควรรู้มีดังนี้

สี่เหลี่ยมจัตุรัส

สำหรับพื้นที่ที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีสูตรการคำนวณ ดังนี้

พื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัส = ด้าน x ด้าน

ตัวอย่าง กำหนดให้ที่ดินมีความยาวด้านละ 50 วา จะได้พื้นที่ 50 x 50 = 2500 ตารางวา

สี่เหลี่ยมผืนผ้า

สำหรับพื้นที่ที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสูตรการคำนวณ ดังนี้

พื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า = ด้านกว้าง x ด้านยาว

ตัวอย่าง กำหนดให้ที่ดินมีด้านกว้าง 30 วา ด้านยาว 50 วา ก็จะได้ 30 x 50 = 1500 ตารางวา

สี่เหลี่ยมใด ๆ

ในความเป็นจริง พื้นที่อาจไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่มักจะเอียงซ้าย เอียงขวา ป้านมุมล่าง แหลมมุมบน ซึ่งเป็นสี่เหลี่ยมใด ๆ ได้หลายแบบ ซึ่งมีสูตรการคำนวณ ดังนี้

พื้นที่สี่เหลี่ยมใด ๆ = 1/2 x (เส้นทแยงมุม x ผลบวกของเส้นกิ่ง)

เส้นกิ่ง คือ เส้นที่ลากจากมุมให้ตั้งฉาก 90 องศากับเส้นทแยงมุม

ตัวอย่าง กำหนดให้ที่ดินมีเส้นทแยงมุม 10 วา มีเส้นกิ่งด้านละ 4.8 วา จะได้ 1/2 x (10 x (4.8 + 4.8)) = 48 ตารางวา

สามเหลี่ยมใด ๆ

พื้นที่สามเหลี่ยมอาจเป็นองค์ประกอบหนึ่งในพื้นที่ที่มีหลายมุม สำหรับพื้นที่ที่เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมใด ๆ  มีสูตรการคำนวณ ดังนี้

พื้นที่สามเหลี่ยมใด ๆ = 1/2(ฐาน x สูง)

ตัวอย่าง กำหนดให้ที่ดินมีความยาวฐาน 20 วา มีความสูง 16 วา จะได้ 1/2 x (20 x 16) = 160 ตารางวา

สรุปสูตรคำนวณพื้นที่ที่ควรรู้

แอปพลิเคชั่นคำนวณพื้นที่

แอปพลิเคชั่นคำนวณพื้นที่

สำหรับใครที่ไม่อยากมานั่งคำนวณคิดเลขให้ยุ่งยาก น่าอยู่ก็ได้นำแอปพลิเคชันสำหรับคำนวณพื้นที่มาฝากทุกคนกัน ซึ่งบอกเลยว่าการคำนวณพื้นที่จะไม่ยากอีกต่อไป ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยครับว่ามีแอปอะไรบ้าง

1.Google Maps ดาวน์โหลดฟรีที่ Android / IOS

หลายคนอาจรู้จักแอปพลิเคชั่นนี้จากการค้นหาเส้นทางเดินทาง แต่แอปนี้ก็สามารถใช้วัดขนาดที่ดินของเราคร่าว ๆ ได้เช่นกัน เพียงเลือกตำแหน่งที่เราต้องการวัดขนาดที่ดิน แตะค้างบนแผนที่ จนมีแถบข้อมูลขึ้นมา จากนี้กดเลือกที่ ‘Measure distance’ แล้วลากเส้นตำแหน่งของที่ดินตามที่เราต้องการ หากต้องการเพิ่มจุดก็ให้กดเลือกที่ Add point และเราจะได้ขนาดของที่ดินตามเส้นที่เราลากเลย

2. Ling ดาวน์โหลดฟรีที่ Android / iOS

เป็นแอปพลิเคชั่นที่สามารถปักหมุดวัดบนแผนที่ดาวเทียมจากในแอปและคำนวณขนาดที่ดินได้ และยังสามารถส่งข้อมูลต่อให้ผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย ทั้งทางเฟสบุ๊ค ไลน์ หรืออีเมล

3. Rai Thai Area ดาวน์โหลดฟรีที่ Android

เป็นแอปพลิเคชั่นที่สามารถคำนวณพื้นที่ได้เพียงใส่ขนาดที่ดินของเราลงไป และยังสามารถแปลงหน่วยวัดได้หลายหน่วยพร้อมกัน ไม่ต้องเสียเวลากดเลือกแปลงหน่วยหลายรอบ

บทสรุป

จบกันไปแล้วกับการทำความรู้จักหน่วยวัดของอสังหาริมทรัพย์และสูตรคำนวณต่าง ๆ อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงการคำนวณเบื้องต้นเท่านั้น ทุกคนอย่าลืมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนทำการวัดที่ดินด้วยนะครับ

สำหรับใครที่กำลังมองหาซื้อที่ดินในขอนแก่นอยู่ สามารถเข้ามาเลือกชม ประกาศซื้อขายที่ดินขอนแก่น ได้ที่เว็บไซต์ขอนแก่นน่าอยู่ แหล่งรวมประกาศขายที่ดินสวย ๆ ทำเลฮิตในขอนแก่นกว่า 400 แห่ง และยังมีสาระน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกด้วย

บทความแนะนำ

อ้างอิง

กดติดตาม "ขอนแก่นน่าอยู่" เพื่อ หาบ้านมือ 1, หาคอนโด, บ้านมือ 2, ที่ดิน รวมถึงหาเช่า/หอพักทั่วเมืองขอนแก่นเพิ่มเติมได้ที่บนเว็บไซต์