การสร้างบ้านเองสักหลัง ถือเป็นความฝันของใครหลายคน เพราะเราสามารถเลือกทำเลที่ถูกใจได้และสามารถออกแบบพื้นที่ต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเองและครอบครัว แต่การสร้างบ้านเองก็มีรายละเอียดมากมายที่เราต้องศึกษาให้ดี เพื่อให้ได้บ้านที่มีมาตรฐานการสร้างบ้าน

ดังนั้นในบทความนี้ น้องน่าอยู่จึงจะพาทุกคนไปดูกันว่ามาตรฐานการสร้างบ้านที่ดีควรเป็นยังไง การจะสร้างบ้านสักหลังเราต้องเรียนรู้กฎหมายสร้างบ้านอะไรบ้าง เพื่อให้การก่อสร้างบ้านของเราเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ถ้าพร้อมแล้ว เราไปดูกันเลยครับ

มาตรฐานการสร้างบ้าน ฉบับมือใหม่

การเตรียมที่ดิน

เมื่อเรามีที่ดินพร้อมสำหรับสร้างบ้านแล้ว เราก็ต้องทำการเตรียมที่ดินให้พร้อม รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมบริเวณที่ดินให้น่าอยู่ เช่น ตัดหญ้า ตัดต้นไม้ ตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และเช็กสภาพของที่ดิน เพื่อสร้างบ้านให้เป็นไปตามมาตรฐานการสร้างบ้าน

หลายพื้นที่มักพบปัญหาที่ดินต่ำกว่าระดับถนนหรือไม่พบทางระบายน้ำ จึงจำเป็นต้องมีการถมที่ดิน หรือ ขุดดินทำทางน้ำไหล เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร มาตรา 71 ว่าด้วยเรื่องการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารพักอาศัยต้องมีทางระบายน้ำ และการดำเนินการปรับปรุงที่ดินนั้นต้องกระทำภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติการขุดดินและการถมดิน พ.ศ. 2543 ประกอบด้วยมาตราที่เกี่ยวข้องหลัก ๆ ด้วยกัน 3 มาตรา คือ

  • มาตรา 17 : การขุดดิน โดยมีความลึกจากระดับพื้นดินเกิน 3 เมตร หรือมีพื้นที่ปากบ่อดินเกิน 10,000 ตารางเมตร หรือมีความลึกหรือพื้นที่ตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนด ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามแบบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด
  • มาตรา 24 : การขุดดินโดยมีความลึกจากระดับพื้นดินไม่เกิน 3 เมตร เมื่อจะขุดดินใกล้แนวเขตที่ดินของผู้อื่นในระยะน้อยกว่าสองเท่าของความลึกของบ่อดินที่จะขุดดิน ต้องจัดการป้องกันการพังทลายของดินให้เรียบร้อย
  • มาตรา 26 : การถมดินโดยมีความสูงของเนินดินเกินกว่าระดับที่ดินที่อยู่ใกล้เคียง และมีพื้นที่ของเนินดินไม่เกินสองพันตารางเมตร หรือ มีพื้นที่ตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนด ต้องจัดให้มีการระบายน้ำเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดินข้างเคียงหรือบุคคลอื่น

สำหรับใครที่อยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถมที่ดิน สามารถตามไปอ่านกันต่อที่ ตอบทุกข้อสงสัย ถมที่ดินราคาเท่าไหร่ ได้เลยครับ

การขออนุญาตก่อสร้าง

หลังจากเตรียมที่ดิน เพื่อการสร้างบ้านที่ได้มาตรฐานการสร้างบ้านเรียบร้อยแล้ว ต่อไปเราต้องให้สถาปนิกออกแบบบ้านและไปขออนุญาตก่อสร้างต่อเติมบ้านที่สำนักงานเขตในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งขั้นตอนในการขออนุญาตก่อสร้างบ้าน มีคร่าว ๆ ดังนี้ครับ

  1. ผู้ขออนุญาตก่อสร้างไปติดต่อกับสำนักงานเขตที่ดูแลพื้นที่เขตก่อสร้าง ถ้าอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตของตัวเอง
  2. เขียนคำร้องพร้อมแนบหลักฐานเอกสารที่เตรียมไว้ให้ครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบแบบการก่อสร้างว่ามีความถูกต้องปลอดภัยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารหรือไม่ ถ้าผ่านแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้หนังสืออนุญาตก่อสร้างกับผู้ขอ
  3. เมื่อได้รับหนังสืออนุญาตจากเจ้าหน้าที่แล้ว ผู้ขออนุญาตสามารถทำการก่อสร้างบ้านได้ทันที

กรณีที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าแบบแปลนการก่อสร้างที่เราได้ยื่นขออนุญาตนั้นมีความบกพร่องในเรื่องใด ซึ่งเราต้องไปแก้ไขข้อบกพร่องนั้นให้ได้ได้มาตรฐานการสร้างบ้าน ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด และมายื่นขออนุญาตอีกครั้งครับ

แต่ถ้าใครไม่อยากยุ่งยากในการเตรียมเอกสารและไปยื่นขออนุญาตก่อสร้าง น้องน่าอยู่แนะนำให้สร้างบ้านกับบริษัทรับสร้างบ้าน เพราะบริษัทรับสร้างบ้านจะดูแลเราทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบ การยื่นขออนุญาตก่อสร้างและการสร้างบ้านที่ได้มาตรฐานการสร้างบ้าน

สำหรับใครที่อยากศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขออนุญาตสร้างบ้าน สามารถตามไปอ่านกันต่อที่ 7 ขั้นตอนที่ต้องรู้ อยากสร้างบ้านเองต้องทำยังไงบ้าง ? ได้เลยครับ

การสร้างบ้านตามมาตรฐานการก่อสร้าง

หลายคนอาจวาดภาพบ้านในฝันเอาไว้ แต่น้องน่าอยู่ขอบอกก่อนว่าบางทีเราอาจไม่สามารถสร้างตามที่เราวาดฝันไว้ได้ 100% นะครับ เพราะเราต้องสร้างบ้านตามที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคารกำหนดไว้ ซึ่งน้องน่าอยู่ได้สรุป 10 ข้อกฎหมายเบื้องต้นสำหรับคนที่กำลังจะสร้างบ้านต้องรู้มาให้ทุกคนแล้ว ไปดูกันเลยครับ

  1. สร้างบ้านชิดรั้วเพื่อนบ้านได้แต่ผนังบ้านรั้วต้องปิดทึบ ไม่มีหน้าต่าง ช่องลม ช่องแสงใดๆ เป็นเด็ดขาด และต้องมีหนังสือยินยอมจากเพื่อนบ้านด้วย
  2. ผนังบ้านชั้น 1 และชั้น 2 ที่มีประตูหน้าต่างต้องมีระยะห่างจากแนวรั้วอย่างน้อย 2 เมตร และหากเป็นบ้าน 3 ชั้น ต้องอยู่ห่างจากรั้วอย่างน้อย 3 เมตร
  3. ไม่สามารถสร้างบ้านเต็มพื้นที่ได้ ต้องมีที่ว่างอย่างน้อย 30% ในที่ดิน ซึ่งที่ว่างนั้นเราอาจใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ เช่น ปลูกต้นไม้ พืชผักสวนครัว เป็นต้น
  4. สร้างบ้านล้ำเข้าไปในถนนสาธารณะไม่ได้ ตัวบ้านต้องมีระยะห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย 3 เมตรโดยวัดจากกึ่งกลางถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 6 เมตร
  5. ที่ดินชิดถนนหักมุมจะต้องปาดแนวรั้วด้านละ 4 เมตร บ้านอยู่ติดมุมถนนที่มีมุมหักถนน 2 ด้านน้อยกว่า 135 องศาและถนนกว้าง 3 เมตรขึ้นไป จะต้องปาดมุมรั้วด้านละ 4 เมตร เพื่อไม่ให้รั้วบ้านหรือกำแพงบดบังทัศนะวิสัยการมองเห็นของผู้ขับขี่รถยนต์
  6. แต่ละห้องต้องมีหน้าต่างหรือช่องแสง สำหรับระบายอากาศทั้งประตู หน้าต่าง ช่องแสง ช่องลม รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 10% ของพื้นที่ในห้องนั้นๆ
  7. ห้องนอนต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร และมีด้านแคบสุดไม่น้อยกว่า 2.5 เมตร
  8. เพดานห้องน้ำต้องสูงกว่า 2 เมตร
  9. บันไดของบ้านต้องกว้างมากกว่า 80 เซนติเมตร และในแต่ละช่วงต้องมีความสูงไม่เกิน 3 เมตร หากมากกว่านี้จะต้องมีชานพักบันได เพื่อช่วยการเกิดอุบัติเหตุ
  10. ติดเหล็กดัด ตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไป ต้องมีช่องเปิด ไม่น้อยกว่า 60 x 80 เซนติเมตร เพื่อเป็นการเปิดทางเข้าออก ในกรณีที่ต้องกู้ภัยเมื่อเกิดไฟไหม้นั่นเอง

สำหรับใครที่อยากศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานการสร้างบ้าน สามารถตามไปอ่านกันต่อที่ เรื่องควรรู้ก่อนสร้างบ้าน ต่อเติมบ้านบนที่ดินเดิม ได้เลยครับ

บทลงโทษที่ต้องรู้

หลังจากเราทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่ดิน การขออนุญาตก่อสร้างและกฎหมายอาคารกันไปแล้ว น้องน่าอยู่แนะนำว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรปฎิบัติตามมาตรฐานการสร้างบ้านอย่างเคร่งครัด เพราะหากเพิกเฉยหรือได้ใบอนุญาตก่อสร้างมาแล้วแต่กลับไม่ก่อสร้างตามแบบที่ได้ยื่นขอไป จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายได้กำหนดบทลงโทษเอาไว้ ดังนี้

  • หากไม่มีการขออนุญาต สร้างบ้าน ต่อเติมบ้านผิดไปจากแบบแปลนที่ยื่นขอไว้ เจ้าของบ้านมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
  • หากเจ้าของบ้านถูกร้องเรียนจากเพื่อนบ้าน มีการสร้างบ้าน ต่อเติมบ้านผิดกฎหมายจริง จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

บทสรุป

จบกันไปแล้วกับการทำความรู้จักกฎหมายที่เกี่ยวกับการสร้างบ้านที่น้องน่าอยู่นำมาฝากทุกคนกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครที่กำลังสร้างบ้านหรือต่อเติมบ้าน จะสามารถนำไปเป็นแนวทางในออกแบบและสร้างบ้านให้เป็นไปตามมาตรฐานการสร้างบ้านกันได้นะครับ

สำหรับใครที่กำลังมองหาบริษัทรับสร้างบ้านในขอนแก่นหรือจังหวัดอื่น ๆ สามารถเลือกค้นหารวมบริษัทรับสร้างบ้านขอนแก่นได้ที่เว็บไซต์น่าอยู่ โดยสามารถเลือกค้นหาได้ตามชื่อบริษัท แบบบ้านที่เราต้องการตามงบประมาณและสไตล์ที่ถูกใจได้เลยครับ

บทความแนะนำ

อ้างอิง

กดติดตาม "ขอนแก่นน่าอยู่" เพื่อ หาบ้านมือ 1, หาคอนโด, บ้านมือ 2, ที่ดิน รวมถึงหาเช่า/หอพักทั่วเมืองขอนแก่นเพิ่มเติมได้ที่บนเว็บไซต์