สืบทรัพย์บังคับคดี มีขั้นตอนและวิธีการอย่างไรบ้างให้ได้เงินคืน?
ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี หลายคนอาจขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้สร้างความหนักใจและปวดหัวให้กับเจ้าหนี้มากเลยทีเดียว และแน่นอนว่าเจ้าหนี้ทุกคนต่างอยากให้ลูกหนี้ชำระเงินคืนให้ครบถ้วนโดยเร็วที่สุด จึงต้องมีการสืบทรัพย์ ยึดบ้านและยึดทรัพย์สินขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้
ในบทความนี้น้องน่าอยู่จึงจะพาทุกคนไปดูสาระน่ารู้เกี่ยวกับสืบทรัพย์บังคับคดีกันว่า สืบทรัพย์บังคับคดี คืออะไร ข้อควรรู้และข้อควรระวังในการสืบทรัพย์บังคับคดี และวิธีการสืบทรัพย์บังคับคดี ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยครับ
สืบทรัพย์บังคับคดี คืออะไร
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนเลยว่าสืบทรัพย์บังคับคดี คืออะไร สืบทรัพย์ คือ การที่เราตามหาทรัพย์สินหรือของมีค่าของลูกหนี้ เพื่อที่จะนำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้ให้เรา ซึ่งการสืบทรัพย์บังคับคดีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล เช่น ศาลตัดสินแล้วว่าลูกหนี้จะต้องนำเงินมาใช้หนี้ในจำนวนที่ตกลงกันไว้ แต่สุดท้ายแล้วลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ตามคำสั่งศาลได้ภายใน 30 วัน จึงจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการสืบทรัพย์บังคับคดี
ข้อควรรู้ในการสืบทรัพย์บังคับคดี
เมื่อเรียนรู้ไปแล้วว่าสืบทรัพย์บังคับคดี คืออะไร ต่อไปเราไปดูข้อควรรู้ในการสืบทรัพย์บังคับคดีกันต่อเลยครับ หลังจากที่ชนะคดีแล้วกฏหมายจะให้เวลาเจ้าหนี้ในการสืบทรัพย์และดำเนินการบังคับคดีเป็นเวลา 10 ปี นับจากวันที่มีคำพิพากษา เพราะฉะนั้นหลังจากได้คำพิพากษามาแล้ว ควรรีบดำเนินการขั้นตอนการสืบทรัพย์โดยเร็วที่สุด เพราะหากพ้นระยะเวลานี้แล้ว ไม่ว่าลูกหนี้จะมีเงินหรือมีทรัพย์สินเพิ่มเติม เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์ของลูกหนี้ได้
เจ้าหนี้ยึดทรัพย์อะไรได้บ้าง
เจ้าหนี้ต้องไปสืบทรัพย์ลูกหนี้เองว่ามีทรัพย์สินอะไรอยู่ที่ไหน และสามารถยึดอะไรได้บ้าง จากนั้นจึงค่อยมาแจ้งต่อศาลหรือกรมบังคับคดีให้ทำการออกหมายเพื่อยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ โดยทรัพย์ที่สามารถยึดได้ มีดังนี้
- สิ่งของมีค่า เช่น เครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็น เพชร พลอย นาฬิกา และของสะสมที่มีมูลค่า
- บ้าน ที่ดิน
- รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ และไม่ได้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ
- เงินในบัญชีเงินฝาก หรือเงินปันผลจากการลงทุน
- ทรัพย์สินที่เป็นการลงทุน เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุน
- เงินเดือนจากการทำงานของลูกหนี้ที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องมีรายได้เกินกว่า 20,000 บาทต่อเดือน
สำหรับทรัพย์สินที่ยึดไม่ได้ ได้แก่ ของใช้ส่วนตัว, เครื่องใช้ในครัวเรือน, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องมือประกอบอาชีพ และรายรับของราชการ และในกรณีมีเจ้าหนี้หลายราย ห้ามยึดทรัพย์สินซ้ำกัน เจ้าหนี้รายใดยึดก่อนก็ได้สิทธิก่อน
เจ้าหนี้อายัดทรัพย์อะไรได้บ้าง
ในกรณีที่สืบทรัพย์แล้วพบว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึด เจ้าหนี้ต้องใช้วิธีอายัดทรัพย์แทน โดยเจ้าหนี้จะต้องไปสืบว่าลูกหนี้ทำงานอะไร ที่ไหน เงินเดือนและโบนัสเป็นอย่างไร เพื่อทำการอายัดเงินเดือน อายัดโบนัส อายัดค่าล่วงเวลารวมถึงค่าตอบแทนอื่น ๆ เป็นต้น โดยหลักการของการอายัดทรัพย์ มีดังนี้
- อายัดเพียง 30% ของเงินเดือนหรือค่าจ้าง โดยคิดจากรายได้ก่อนหักภาษีและหักประกันสังคม แต่ถ้าลูกหนี้เงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ห้ามเจ้าหนี้อายัดเงินเดือน หรือเมื่อถูกอายัดแล้วมีเงินเหลือน้อยกว่า 10,000 บาทก็ห้ามอายัดเงินเดือน
- การอายัดเงินเดือนหรือค่าจ้างเพียง 30% สามารถลดหย่อนได้หากลูกหนี้มีความจำเป็น เช่น ต้องเลี้ยงดูครอบครัว หรือมีโรคประจำตัว เป็นต้น
- อายัดโบนัสได้ 50%
- อายัดค่าคอมมิชชั่นได้ 30%
- หากลูกหนี้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของรัฐห้ามเจ้าหนี้อายัดเงินเดือน
- กรณีที่มีเจ้าหนี้หลายราย ห้ามอายัดเงินเดือนลูกหนี้เพิ่ม หากมีเจ้าหนี้รายอื่นอายัดเงินเดือนลูกหนี้ไปแล้ว
สำหรับใครที่อยากศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการยึดทรัพย์เพิ่มเติม สามารถตามไปอ่านกันต่อที่ ทำอย่างไรดี? เมื่อถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ได้เลยครับ
ข้อควรระวังในการสืบทรัพย์บังคับคดี
สืบทรัพย์บังคับคดีเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย หากลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ตามคำสั่งศาลได้ แต่การสืบทรัพย์ก็มีข้อควรระวัง ดังนี้
ห้ามทำผิดกฎหมาย
ถึงแม้ลูกหนี้จะไม่ทำตามคำสั่งของศาลและไม่ชำระหนี้ตามท่ีตกลงไว้ แต่เจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิเข้าไปบุกรุกหรือปล้นชิงทรัพย์จากลูกหนี้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้ีทำได้เพียงสืบทรัพย์ว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินอะไรอยู่ที่ไหน และสามารถยึดอะไรได้บ้าง จากนั้นจึงค่อยมาแจ้งต่อศาลหรือกรมบังคับคดีให้ทำการออกหมายเพื่อยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ขายทอดตลาดต่อไป
ลูกหนี้โอนทรัพย์หนีหนี้
ลูกหนี้โอนทรัพย์หนีหนี้เป็นสิ่งที่เจ้าหนี้ควรระวังให้ดี เพราะลูกหนี้บางคนก็มีการโอนทรัพย์สินของตัวเองไปให้บุคคลใกล้ชิด เพื่อหลบหนีการถูกสืบทรัพย์และยึดทรัพย์สิน ลูกหนี้บางคนอาจทำท่าทีแกล้งว่าขายทรัพย์สินและมีการโอนกรรมสิทธิ์แต่ไม่ได้ซื้อขายจริง ๆ ดังนั้นเจ้าหนี้ควรคอยสังเกตพฤติกรรมลูกหนี้ให้ดีว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินให้ผู้อื่นหลังโดนฟ้อง และมีการขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด เป็นต้น
วิธีการสืบทรัพย์บังคับคดี
วิธีสืบทรัพย์ลูกหนี้มีวิธีที่แตกต่างกันออกไปตามความสามารถและความสะดวกของเจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้จะทำการสืบทรัพย์ด้วยตัวเองหรือจะจ้างทนายที่มีประสบการณ์สืบทรัพย์ให้ก็ได้เช่นกัน
สืบทรัพย์บังคับคดีด้วยตัวเอง
เจ้าหนี้คนไหนที่มั่นใจในความสามารถการเป็นนักสืบของตัวเอง สามารถสืบทรัพย์บังคับคดีด้วยตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการคอยสังเกตพฤติกรรมของลูกหนี้ว่ามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ยิ่งลูกหนี้เป็นคนที่ชอบโพสต์รูปลงโซเชียลยิ่งตามสืบง่ายเลยครับ
นอกจากนี้ยังสามารถสืบทรัพย์บังคับคดีได้ตามหน่วยงานต่าง ๆ อย่างกรมที่ดินว่าลูกหนี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินหรืออสังหาฯ ใด ๆ อยู่หรือไม่ แนะนำให้ไปยังสำนักงานที่ดินตามภูมิลำเนาเดิมที่ลูกหนี้เคยอยู่อาศัย สถานที่ที่เคยย้ายไปอยู่อาศัยและภูมิลำเนาในปัจจุบัน เป็นต้น จากนั้นเตรียมเอกสารบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน และหลักฐานที่แสดงว่ามีสิทธิตรวจสอบหลักทรัพย์ได้ตามกฎหมาย เช่น คำพิพากษาของศาล หรือหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ยื่นให้แก่เจ้าหนี้เพื่อขอตรวจสอบหลักทรัพย์ของลูกหนี้
จ้างทนายสืบทรัพย์บังคับคดี
สำหรับใครที่ไม่อยากยุ่งยากในขั้นตอนการสืบทรัพย์บังคับคดี แนะนำให้จ้างทนายในการสืบทรัพย์บังคับคดีเลยครับ เพราะทนายมีความเป็นมืออาชีพและมีความเชี่ยวชาญในการทำเอกสารต่าง ๆ และยังช่วยเป็นหูเป็นตาให้เรา หากลูกหนี้โอนทรัพย์หนีหนี้อีกด้วย
บทสรุป
จบกันไปแล้วกับการพาทุกคนไปดูสาระน่ารู้เกี่ยวกับสืบทรัพย์บังคับคดีที่น้องน่าอยู่นำมาฝากทุกคนกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครที่เป็นเจ้าหนี้และกำลังประสบปัญหาลูกหนี้ผิดชำระหนี้อยู่ จะมีความเข้าใจเกี่ยวกับการสืบทรัพย์บังคับคดีกันมากขึ้นนะครับ อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ทุกคนอย่าลืมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเมื่อต้องสืบทรัพย์บังคับคดีด้วยนะครับ
สำหรับใครที่กำลังมองหาซื้อบ้านเดี่ยวและคอนโดอยู่ สามารถเข้ามาเลือกชมโครงการบ้านใหม่พร้อมอยู่ และโครงการคอนโดได้ที่เว็บไซต์น่าอยู่ แหล่งรวมประกาศขายบ้านเดี่ยว โครงการบ้านจัดสรรและคอนโด
บทความแนะนำ
- วิธีประมูลที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี ฉบับเข้าใจง่าย อัปเดท 2568
- สินเชื่อโฉนดที่ดินคืออะไร ข้อควรรู้ก่อนยื่นกู้
- บ้านติดธนาคารอยู่ ขายได้ไหม?
อ้างอิง
ติดตาม "ขอนแก่นน่าอยู่" เพื่อไปหาบ้านมือ 1, หาคอนโด, บ้านมือ 2, ที่ดินและหาเช่า/ กดหอพักทั่วเมืองขอนแก่นได้ที่สามารถพบได้ที่นี่
- เว็บไซต์ : www.NaYoo.co (ไม่มี m)
- Facebook : ขอนแก่นน่าอยู่
- ยูทูป : https://www.youtube.com/c/khonkaennayoo