วิธีประมูลที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี ฉบับเข้าใจง่าย อัปเดท 2567

หลายคนที่กำลังสนใจในการประมูลที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี แต่ยังสับสนว่าต้องทำยังไงบ้าง วันนี้น่าอยู่จะพาทุกคนมาเรียนรู้วิธีประมูลฉบับเข้าใจง่าย อ่านบทความนี้จบเรารับประกันว่าคุณจะมีความเข้าใจเรื่องขายทอดตลาดที่ดินขึ้นแน่นอน จะมีวิธียังไงบ้าง ไปดูกันเลยครับ

ที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี คืออะไร

ที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี คือ การที่ลูกหนี้นำที่ดินไปจำนองไว้กับเจ้าหนี้เพื่อเป็นหลักประกันในการกู้ยืม หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ได้ ลูกหนี้ก็จะถูกฟ้องร้องและกรมบังคับคดีจะขายทอดตลาดที่ดินโดยนำที่ดินนั้นออกมาประมูลขาย เพื่อนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้คืนให้กับเจ้าหนี้ ทำให้ราคาที่ขายมีราคาถูกกว่าปกติ

สำหรับใครที่อยากจะรู้เช็คลิสต์ขั้นตอนการซื้อที่ดิน สามารถตามไปอ่านกันได้ที่ 5 เช็คลิสต์ขั้นตอนการซื้อที่ดิน ใครกำลังจะซื้อที่ดินต้องอ่าน

สามารถประมูลที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดีได้ที่ไหนบ้าง

กรมบังคับคดีได้มีการจัดประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่สำนักงานบังคับคดี 9 แห่ง ได้แก่ นนทบุรี ชลบุรี นครปฐม นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ พิษณุโลก สุราษฎร์ธานี และสงขลา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการประมูลแต่อยู่ไกลสถานที่จัดประมูล โดยผู้สนใจต้องลงทะเบียนล่วงหน้าที่สำนักงานบังคับคดีที่ต้องการใช้บริการ ซึ่งสามารถเข้าประมูลได้จากทุกภาค

เตรียมความพร้อมก่อนเข้าประมูลที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี

ก่อนที่เราจะไปประมูลที่ดินขายทอดตลาดต้องเริ่มจากการเตรียมความพร้อมให้ดีก่อน ซึ่งควรเตรียมความพร้อม ดังนี้

ศึกษารายละเอียดและข้อบังคับ

แนะนำว่าเราควรศึกษารายละเอียดและข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการขายทอดตลาดที่ดินให้ดีก่อนถึงวันประมูล เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจและไม่เสียผลประโยชน์ต่อตัวเราเอง ซึ่งรายละเอียดที่ควรรู้ มีดังนี้

  1. หากผู้เข้าร่วมประมูลที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดีสามารถประมูลซื้อที่ดินได้แล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลง เพิ่มหรือลดชื่อผู้ซื้อได้ ควรตรวจสอบรายชื่อผู้ประมูลและสำรวจตัวเองว่าหากซื้อได้แล้วสามารถชำระเงินได้ตามกำหนดหรือไม่
  2. หากต้องการให้ผู้อื่นเข้าร่วมประมูลแทน ต้องยื่นหนังสือมอบอำนาจก่อนเข้าประมูล หากไม่มีหนังสือจะถือว่าผู้นั้นเข้าประมูลในนามของตนเอง
  3. วิธีการประมูลเป็นการพูดปากเปล่า
  4. หากเจ้าหน้าที่มองว่าการประมูลมีราคาต่ำเกินไป สามารถเพิกถอนการขายได้
  5. การประมูลจะเสร็จเรียบร้อยเมื่อเจ้าหน้าที่นับ 1 ถึง 3 แล้วเคาะไม้
  6. ถ้าประมูลชนะแล้วไม่สามารถชำระเงินครบถ้วน กรมบังคับคดีจะขายทอดตลาดที่ดินนั้นอีกครั้ง แต่ถ้าได้ราคาต่ำกว่าครั้งก่อน ผู้ซื้อเดิมต้องชำระเงินส่วนต่างของราคา

เตรียมหลักฐานให้ครบ

หลังจากศึกษารายละเอียดและข้อบังคับต่าง ๆ ไปแล้ว ต่อไปต้องเตรียมหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ซึ่งหลักฐานที่ต้องนำไปในวันประมูลที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี มีดังนี้

  • บัตรประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมสำเนาและเซ็นรับรองความถูกต้อง
  • ถ้าเป็นนิติบุคคล ต้องมีเอกสารรับรองนิติบุคคลที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 1 เดือน
  • ถ้าต้องการให้ผู้อื่นเข้าประมูลแทน ต้องมีเอกสาร ดังนี้

กรณีบุคคลทั่วไป ต้องมีใบมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับอำนาจ พร้อมเซ็นรับรองความถูกต้อง

กรณีนิติบุคคล ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ หนังสือรับรองนิติบุคคล และสำเนาบัตรประจำตัวของผู้มีอำนาจในนิติบุคคลและผู้รับมอบอำนาจ พร้อมเซ็นรับรองความถูกต้อง

  • เงินสด หรือแคชเชียร์เช็ค เพื่อเป็นหลักประกันในการประมูล โดยจำนวนเงินที่ต้องนำมาแบ่งตามเกณฑ์ ดังนี้

- ราคาประเมินไม่เกิน 500,000 บาท วางหลักประกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของราคาประเมิน

- ราคาประเมิน 500,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกัน 50,000 บาท

- ราคาประเมิน 1,000,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกัน 250,000 บาท

- ราคาประเมิน 5,000,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกัน 500,000 บาท

- ราคาประเมิน 10,000,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกัน 1,000,000 บาท

- ราคาประเมิน 20,000,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกัน 2,500,000 บาท

- ราคาประเมิน 50,000,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกัน 5,000,000 บาท

- ราคาประเมิน 100,000,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกัน 10,000,000 บาท

- ราคาประเมิน 200,000,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกันตามที่ผู้ได้รับมอบหมายกำหนด

ขั้นตอนการประมูลที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี

หลังจากเตรียมหลักฐานเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการประมูลที่ดินขายทอดตลาดซึ่งการประมูลนั้นมีขั้นตอนไม่ยากเลย ไปดูกันเลยครับ

  1. ลงทะเบียนประมูลที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี โดยกรอกรายละเอียดตามแบบฟอร์ม พร้อมวางเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คเป็นหลักประกัน
  2. รับป้ายประมูลและเข้าไปนั่งในที่ที่จัดเตรียมไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะอธิบายเงื่อนไขการประมูลที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดีแบบคร่าว ๆ
  3. เจ้าหน้าที่จะเป็นคนกำหนดราคาเริ่มต้น ถ้าไม่มีผู้เสนอราคาประมูล ราคาก็จะลดลงไปโดยรอบที่ 2 จะลดเหลือ 90 % ของราคาเริ่มต้น ในรอบที่ 3 จะลดเหลือ 80% และในรอบที่ 4 ราคาจะเหลือ 70% แต่หากมีคนประมูล สามารถยกป้ายประมูลเสนอราคาแข่งกันได้เลย
  4. เมื่อมีผู้ประมูลราคาได้สูงสุดแล้วไม่มีใครคัดค้าน เจ้าหน้าที่จะทำการนับ 1 ถึง 3 แล้วเคาะไม้ ซึ่งหมายถึงผู้นั้นชนะการประมูล
  5. หลังประมูลได้แล้ว ต้องชำระเงินที่เหลือภายใน 15 วัน หากไม่สามารถชำระได้ใน 15 วัน สามารถยื่นเรื่องต่อกรมบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 3 เดือน และจะไม่สามารถขยายเวลาได้อีก
  6. เมื่อชำระเงินเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีที่ดินขายทอดตลาดจะมอบเอกสารเป็นหลักฐานให้ผู้ซื้อไปโอนกรรมสิทธิ์แก่เจ้าพนักงานที่ดินได้ทันที

ข้อดีข้อเสียของการซื้อที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี

หลังจากเรียนรู้ขั้นตอนการประมูลที่ดินขายทอดตลาดไปแล้ว น่าอยู่จะมาบอกทุกคนถึงข้อดีข้อเสียที่ควรคำนึงถึงเวลาซื้อที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดีกัน

  • ข้อดี

ที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดีเป็นที่ดินขายทอดตลาดที่มีราคาเริ่มต้นถูกกว่าราคาตามตลาดมาก เพราะต้องการเร่งชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ ผู้ซื้อสามารถกำหนดงบของตัวเองและแข่งขันในงบที่ตั้งเอาไว้ได้ ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดเงินไปได้มากเลยทีเดียว แถมที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดีบางที่ยังตั้งอยู่ในทำเลที่ดี ทำเลที่หายากอีกด้วย

  • ข้อเสีย

หากไม่มีความเชี่ยวชาญในการประมูลที่ดินขายทอดตลาด อาจถูกคู่แข่งเสนอราคาแข่งกันจนเกินงบที่ตั้งไว้ได้ อาจมีโอกาสถูกยึดเงินหลักประกันที่วางไว้ หากไม่ชำระตามกำหนด

ในกรณีที่เป็นบ้านและที่ดินขายทอดตลาด หากได้บ้านที่มีความชำรุดเสียหาย จะไม่มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ หรืออาจเกิดปัญหาลูกหนี้ไม่ยอมย้ายออกจากบ้าน ทำให้เกิดความลำบากใจ ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อไปอีก

มีความเสี่ยงที่จะถูกปฏิเสธการกู้สินเชื่อจากธนาคาร เพราะธนาคารไม่สามารถประเมินราคาได้ หรือบางครั้งถ้าเจ้าหนี้และลูกหนี้สะสางปัญหากันได้แล้ว ทำให้มีคำสั่งให้ถอนการขายทอดตลาดบ้านและที่ดิน เราก็ต้องยอมโอนกรรมสิทธิ์กลับคืน ซึ่งอาจทำให้เสียเวลาเปล่าได้

สำหรับใครที่อยากจะศึกษาเกี่ยวกับ ราคาประเมินที่ดิน ว่าคืออะไรก่อนที่จะทำการซื้อขายที่ดิน สามารถตามไปอ่านกันต่อได้ที่ ชวนรู้จักราคาประเมินที่ดินพร้อมวิธีประเมินง่าย ๆ

หรือสำหรับใครที่ประมูลที่ดินมาได้แล้ว อยากศึกษาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการโอนที่ดิน สามารถตามไปอ่านกันต่อได้ที่ ค่าโอนที่ดินฉบับอัพเดท 2567 พร้อมวิธีคำนวณแบบง่าย ๆ

บทสรุป

จบกันไปแล้วกับวิธีประมูลที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี ฉบับเข้าใจง่าย จะเห็นว่าไม่ยากเลยใช่มั้ยล่ะครับ เพียงแค่เราต้องศึกษารายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ดีและเตรียมตัวให้พร้อม หวังว่าใครที่กำลังหาซื้อที่ดินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดีจะได้ที่ที่ถูกใจกันนะครับ

สำหรับใครที่กำลังมองหาซื้อที่ดินขอนแก่นอยู่ สามารถเข้ามาเลือกชม ประกาศซื้อขายที่ดินขอนแก่น ได้ที่เว็บไซต์ขอนแก่นน่าอยู่ แหล่งรวมประกาศขายที่ดินสวย ๆ ทำเลฮิตในขอนแก่นกว่า 400 แห่ง และยังมีสาระน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกด้วย

บทความแนะนำ

อ้างอิง

กดติดตาม "ขอนแก่นน่าอยู่" เพื่อ หาบ้านมือ 1, หาคอนโด, บ้านมือ 2, ที่ดิน รวมถึงหาเช่า/หอพักทั่วเมืองขอนแก่นเพิ่มเติมได้ที่บนเว็บไซต์