ตรวจรับบ้านเองต้องเช็คอะไรบ้าง?

อีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของการซื้อบ้านที่ทุกคนต้องห้ามพลาดเลยคือ การตรวจรับบ้าน เพราะเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพื่อให้บ้านของเรามีความสมบูรณ์มากที่สุดก่อนจะเข้าอยู่ วันนี้น่าอยู่มีเคล็ดลับการตรวจรับบ้านดี ๆ แบบฉบับมืออาชีพมาฝากกันค่ะ

ทำไมต้องตรวจรับบ้าน

เหตุผลว่าทำไมต้องตรวจรับบ้าน เพราะการตรวจรับบ้านก่อนมีการโอนกรรมสิทธิ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำ เพราะจะทำให้เราได้บ้านที่สมบูรณ์ มีคุณภาพ ทั้งในเชิงโครงสร้าง ระบบน้ำและระบบไฟต่าง ๆ เมื่อเราเข้าอยู่อาศัยแล้วจะได้ไม่กังวลเรื่องปัญหาที่ตามมา นอกจากนั้นยังไม่เปลืองงบประมาณในการซ่อมแซมภายหลังด้วย

ก่อนตรวจรับบ้านต้องเตรียมตัวยังไง

ก่อนตรวจรับบ้านต้องมีการเตรียมตัวก่อน คือต้องมีการตรวจสอบสัญญาจะซื้อจะขาย และเงื่อนไขข้อตกลงต่าง ๆ ที่เขียนในสัญญา จากนั้นจึงทำการนัดวันเวลาเข้าไปทำการตรวจรับบ้านกับเจ้าหน้าที่โครงการ ซึ่งควรทำการนัดในช่วงเช้า เพื่อจะได้มีแสงสว่างเพียงสำหรับการตรวจบ้าน และใช้เวลาตรวจได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังต้องเตรียมเอกสารรายละเอียดของบ้านไปด้วย และควรจะมีคนไปตรวจรับบ้านด้วยอย่างน้อย 2 คน เพื่อจะได้ช่วยกันเช็คให้ถี่ถ้วน

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการตรวจบ้าน

  • ดินสอ ปากกา  สมุด ใช้จดบันทึก
  • กระดาษ Post-it , เทปกาวย่น  ใช้บอกจุดที่ต้องการให้ช่างแก้ไข
  • ตลับเมตร  ใช้วัดขนาดพื้นที่หรือสิ่งของ
  • ไฟฉาย  ใช้ส่องเช็กสีหรือความเรียบของพื้นผิวต่าง ๆ
  • ดินน้ำมัน , ถุงพลาสติก  ใช้ปิดรูระบายน้ำ เพื่อเช็กการรั่วซึมของน้ำ
  • ถังน้ำ , สายยาง ใช้ทดสอบการรั่วซึมของขอบยางประตู หน้าต่าง และทดสอบการระบายน้ำ
  • ค้อนหัวยาง , ไขควงด้ามไม้  ใช้เคาะกระเบื้องเช็กความแน่นของปูนกาว
  • กระจกบานเล็ก  ใช้ส่องเช็กความเรียบร้อยของขอบประตูด้านบน ที่เป็นจุดอับสายตา
  • บันได  ใช้สำหรับขึ้นไปตรวจเช็กฝ้าเพดาน
  • เครื่องตรวจสอบเบรกเกอร์ตัดไฟรั่วไหล (ELCB Tester) , ไขควงวัดไฟ  ใช้เพื่อเช็กการทำงานผิดปกติของเต้ารับ (ควรศึกษาวิธีการใช้งานอย่างละเอียด หรือให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบให้)

จุดสำคัญที่ต้องเช็กในการตรวจบ้าน

1.ระบบน้ำ

ต้องมีการตรวจเช็กทั้งระบบน้ำดีและระบบน้ำเสีย โดยการเช็กการรั่วไหล รั่วซึม มีรอยแตกร้าวหรือไม่

2.ระบบไฟ

  • ไฟส่องสว่าง ทดสอบว่าสามารถเปิด-ปิด ใช้งานได้จริง สว่างเพียงพอกับพื้นที่ตรงนั้นไหม ติดตั้งถูกจุดไหม จุดที่ติดตั้งภายนอกปลอดภัยหรือไม่
  • ปลั๊กไฟ ทดสอบให้แน่ใจว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไม่ ตำแหน่งติดตั้งถูกไหม
  • สายไฟ ตรวจสอบว่ามีการติดตั้งสายไฟและสายดินอย่างถูกต้อง เรียบร้อย
  • ระบบป้องกันไฟฟ้า มีการติดตั้งเบรกเกอร์เพื่อป้องกันอันตรายจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นหรือไม่

3.ผนังและโครงสร้าง

ควรเดินสำรวจโครงสร้างรอบ ๆ บริเวณบ้านอย่างละเอียด งานก่อสร้างต้องเรียบร้อย แข็งแรงทนทาน ตรงตามแบบแปลน และผนังบ้านไม่ควรมีรอยแตกร้าวใด ๆ

4.พื้น

ต้องตรวจเช็กพื้นบ้านทั้งหมดให้แน่ใจว่าเรียบ ไม่ลาดเอียงนอกเหนือจากแบบ ไม่มีการยุบตัวหรือเสี่ยงต่อการพังเสียหาย ใช้วัสดุสเปคดี มีคุณภาพ ไม่มีรอยร้าว รอยแยก รอยบวมโก่ง ติดตั้งถูกต้อง

5.หลังคา

หลังคาที่ดีไม่ควรรั่วซึม และฝ้าเพดานควรมีระดับเท่ากัน เก็บงานเรียบร้อย เราสามารถตรวจสอบการรั่วซึมของหลังคาได้จากการดูหยดน้ำบริเวณพื้นบ้าน หรือคราบน้ำบนฝ้าเพดาน

6.ช่องเปิด

ช่องเปิดภายในบ้านควรทดสอบว่าสามารถเปิด-ปิด ไขกุญแจได้หรือไม่ อาทิเช่น หน้าต่าง ช่องระบายอากาศ ประตู หรือช่องเฟอร์นิเจอร์ Built-in ต่าง ๆ

7.บริเวณรอบบ้าน

ควรตรวจสอบว่าพื้นนอกบ้านมีระดับเท่ากันหรือไม่ สภาพดีไม่มีการทรุดตัว บริเวณสวนจัดถูกต้องตามแปลนหรือไม่

การตรวจเช็คบ้านหรือการตรวจรับบ้าน เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาค่อนข้างละเอียด เนื่องจากต้องทำการเช็กหลายจุดทั้งบ้าน แต่ละจุดก็มีวิธีการทดสอบการใช้งานที่แตกต่างกัน แต่หากมีความรู้สึกว่าไม่ชำนาญ ไม่สะดวกที่จะตรวจรับเอง สามารถใช้บริการตรวจรับบ้านกับคิวช่าง (Q-Chang) ได้ที่นี่ คลิกเลย https://bit.ly/40hLWnW  

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ