4 สิ่งเกี่ยวกับสายดิน ที่คนมีบ้านไม่รู้ไม่ได้️

สายดิน หรือ Earthing System

สำหรับผู้ที่เริ่มต้นวางแผนสร้างบ้าน อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้การออกแบบบ้านคือ การออกแบบวงจรไฟฟ้า โดยสิ่งที่สำคัญมากคือการติดตั้ง “สายดิน” ซึ่งบ้านโครงการบ้านที่ก่อสร้างในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ได้มีการติดตั้งมาแล้ว แต่สำหรับมือใหม่สร้างบ้าน หรือบ้านไหนที่ไม่แน่ใจว่าบ้านของตนเองได้ติดตั้งสายดินแล้วหรือยัง #บุรีรัมย์น่าอยู่ ขอพามาทำความรู้จักว่าสายดินคืออะไร? ทำไมสายดินถึงสำคัญ ไปจนถึงการติดตั้งระบบสายดิน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ สายดิน มากขึ้นก่อนเกิดอันตราย!

1.สายดินคืออะไร

ระบบสายดิน (G: Ground ) คือตัวนำกระแสไฟฟ้าลัดวงจรลงสู่พื้นดิน เพื่อไม่ให้กระแสไฟส่งไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า จนนำไปสู่อันตรายเมื่อมีการใช้งาน ซึ่งปลายสายด้านหนึ่งของสายดินจะถูกต่อลงสู่พื้นดิน ส่วนปลายอีกด้านเชื่อมต่อกับเครื่องใช้ไฟฟ้า

สายดินคืออะไร

ระบบของสายดินแบ่งออกเป็น

   1.1 สายดิน หรือ สายต่อหลักดิน (Earthing Conductor) เป็น สายฉนวนลวดทองแดง หุ้ม PVC ที่มักมีฉนวนหุ้มมาตรฐานเป็นสีเขียวหรือเขียวแถบเหลือง ส่วนขนาดขึ้นอยู่กับขนาดของตัวนำประธาน หรือ สายเมน ที่แต่ละครัวเรือนใช้

   โดยสายดินยังสามารถแบ่งสายดินออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

      1.1.1 สายดินเพื่อให้ทำงานได้ (functional earthing conductor)

สายดินเพื่อให้ทำงานได้ เป็นสายดินที่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดทำงานได้อย่างปกติและไม่ชำรุดง่าย เช่น คอมพิวเตอร์ และ โทรศัพท์ เป็นต้น

      1.1.2 สายดินป้องกัน (protective earthing conductor)

สายดินที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย โดยทั่วไปในอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องใช้สายดินมักจะมีสัญลักษณ์บ่งบอก เพื่อเตือนให้ผู้ใช้งานระมัดระวังในการติดตั้งใช้งาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 1

  1.2 หลักดิน (Ground Rod)

คือแท่งโลหะหรือแผ่นโลหะ ที่ฝังลงในดินเพื่อกระจายกระแสไฟลงสู่ดิน ส่วนใหญ่จะทำจากเหล็กและทองแดง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  16 มิลลิเมตร และความยาวไม่น้อยกว่า ความยาว 2.40 เมตร

2.เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้สายดิน

  เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้สายดิน หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 1 เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉนวนหนาปกติ จำเป็นต้องมี สายดิน เพราะมีโครงเหล็กหรือส่วนประกอบด้านนอกเป็นโลหะ ผู้ผลิตจึงมีการผลิต ขั้วสายดิน มาที่เต้าเสียบเพื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านเต้ารับไปยัง เมนสวิตช์ (Main Switch) และสายดิน ตัวอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า ประเภท 1 เช่น กระทะไฟฟ้า ตู้เย็น เตารีด เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น หม้อหุงข้าว ไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า กระติกน้ำร้อน เป็นต้น

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้สายดิน

3. การตรวจเช็กสายดิน

การตรวจเช็กสายดิน

ปัจจุบันการไฟฟ้าแห่งนครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้กำหนดว่าผู้ที่ทำการขออนุญาตใช้ไฟฟ้าจำเป็นต้องติดตั้งสายดิน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานเอง โดยการตรวจสอบสายดินเบื้องต้นสามารถทำได้โดยการหาหลักดิน การเช็กจากสัญลักษณ์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า และการใช้ไขควงไฟ เช็กเบื้องต้น ซึ่งต้องทำการทดสอบก่อนใช้จริงก่อนว่าไขควงลองไฟสามารถใช้งานได้ ก่อนนำไปเช็กกับสายไฟหรือวัตถุโดยตรง โดยการนำปลายไขควงแตะที่วัตถุที่ต้องการทดสอบ หากพบว่ามีแสงสว่างขึ้น แสดงว่าอุปกรณ์ไฟฟ้ามีไฟรั่ว (ผู้ทดสอบจำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์) นอกจากนั้นยังสามารถทดสอบได้ด้วยการตรวจเช็กผ่านเครื่องมัลติมิเตอร์ ทดสอบด้วยหลอดไฟ และการทดสอบโดยนำแท่งกราวด์ต่อเข้ากับสายดินในตู้คอนซูมเมอร์

4. การติดตั้งระบบสายดิน

การติดตั้งระบบสายดิน

    4.1 การติดตั้งสายดิน ภายในอาหารเดียวกัน ไม่ควรทำมากกว่า 1 จุด โดยขนาดและชนิดของอุปกรณ์ติดตั้งระบบสายดิน จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานกฎการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าของการไฟฟ้า

    4.2 โดยการตอกหลักดิน ต้องตอกพื้นลงไปแบบแนวดิ่ง เอียงได้ไม่เกิน 45 องศา และไม่ควรต่อโครงโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้าลงดินโดยตรง จำเป็นต้องเดินสายดินไปที่เมนสวิตช์ เพื่อให้เป็นการต่อโดยสมบูรณ์

    4.3 อาจทำการติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วเพิ่มเติม เพื่อทำงานควบคู่ไปกับสายดิน ในการเพิ่มมาตราฐานความปลอดภัยของผู้ใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า

สรุป

สายดินเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเมื่อสร้างบ้านเสร็จไปจนถึงขั้นตอนของการวางระบบไฟฟ้า โดยการมีสายดินจะช่วยให้ผู้ใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าและคนในครอบครัวปลอดภัยจากการโดนไฟดูด เมื่อไฟฟ้าเกิดการรั่วไหล โดยการติดตั้งและทดสอบสายดินควรเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ เพราะการติดตั้งหรือวางระบบไฟฟ้ามีความอันตรายทั้งเรื่องแรงดันไฟฟ้า และความเข้าใจด้านอุปกรณ์ต่างๆ และแผงวงจรของบ้านเดี่ยว กับ คอนโด หรือ อาคารชุด มีรูปแบบที่แตกต่างกัน หากมีปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟควรสอบถามบริการช่างหรือติดต่อการไฟฟ้าเพื่อสอบถามเพิ่มเติม

ที่มา

สายดินมีไว้เพื่ออะไร-ช่างประจำบ้าน โดยบ้านและสวน

https://www.bigjump.co.th/wp-content/uploads/2018/11/คู่มือการไฟฟ้านครหลวง.pdf

https://osh.labour.go.th/attachments/article/171/171.pdf

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องมี/ไม่มีสายดิน

บุรีรัมย์น่าอยู่ | 𝐁𝐮𝐫𝐢𝐫𝐚𝐦 𝐧𝐚𝐲𝐨𝐨 รวมทุกเรื่องที่อยู่ของคนบุรีรัมย์

อย่าลืมกดติดตาม "บุรีรัมย์น่าอยู่" เพื่อ หาบ้านมือ 1, บ้านมือ 2, ที่ดิน รวมถึงหาเช่า/หอพักทั่วเมืองบุรีรัมย์เพิ่มเติมได้ที่