‘น้ำท่วม’ พูดเบาๆ คำเดียวก็เจ็บ
ที่ผ่านมาชาวระยองต่างประสบอุทกภัยกันแบบคาดไม่ถึง เมื่อฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันหลายคืนจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่แบบไม่ทันตั้งตัว พวกเราหวังว่าทุกคนจะปลอดภัยนะ
ถึงอย่างนั้น แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์จะคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว แต่สิ่งที่น้ำท่วมทิ้งไว้ให้กับบ้านแสนอบอุ่นของเราก็เป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อย แถมไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกวันไหน
วันนี้ ‘ระยองน่าอยู่’ เลยขอแนะนำทริกเล็กๆ น้อยๆ เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วม ทั้งก่อนและหลัง ว่าบ้านระยองจะเตรียมตัวยังไงได้บ้าง ไปดูกันเลย
ก่อนอื่นไปดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมได้บ้าง?
น้ำท่วมหรืออุทกภัยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แล้วแต่ลักษณะของพื้นที่และสภาพอากาศ โดยน้ำท่วมนั้นจะแบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยหลักๆ ก็คือ
1. ปัจจัยทางธรรมชาติ ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก ด้วยสภาพอากาศที่เกิดขึ้นซึ่งบางครั้งทำนายได้ บางครั้งทำนายไม่ได้ มีทั้ง
- ฝนตกหนักต่อเนื่อง ที่อาจมาจากอิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อนหรือความกดอากาศต่ำที่พาดผ่าน ทำให้ฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน จนดินไม่สามารถซึมซับน้ำได้ทัน และแหล่งน้ำธรรมชาติไม่สามารถรองรับน้ำปริมาณมากไว้ได้
- ฝนตกหนักบริเวณภูเขา ทำให้เกิดปริมาณน้ำสะสมจำนวนมากบนภูเขาและไหลลงสู่ที่ราบอย่างรวดเร็วจนแหล่งน้ำธรรมชาติรองรับน้ำปริมาณมากไม่ทัน
- น้ำทะเลหนุนสูง เมื่อฝนตกและเกิดน้ำทะเลหนุนสูงมีผลทำให้น้ำในแม่น้ำสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะน้ำในแม่น้ำไม่สามารถระบายลงทะเลได้ทันจนเอ่อล้นท่วมพื้นที่บ้านเรือนแทน
- ภัยธรรมชาติอื่นๆ เช่น สึนามิหรือพายุใหญ่ที่ส่งผลให้เกิดน้ำล้นทะลักจำนวนมหาศาล
2. ปัจจัยจากจากการกระทำของมนุษย์
- การตัดไม้ทำลายป่า ที่ทำให้เวลาน้ำไหลลงจากภูเขาจะไม่มีต้นไม้คอยดูดซับน้ำ และเป็นแนวป้องกันให้น้ำไหลลงจากเขาช้าลง
- การสร้างถนนและสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ ตามปกติในบางพื้นที่นับเป็นเส้นทางน้ำผ่านตามธรรมชาติ แต่เมื่อมีถนนหรือสิ่งปลูกสร้างไปขวางทางน้ำ ทำให้น้ำปริมาณมากไม่สามารถระบายได้ตามเส้นทางที่ควรจะเป็นจนเกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง
รับมือก่อนน้ำท่วมยังไงดี?
แม้อุทกภัยจะไม่สามารถประเมินล่วงหน้าได้ แต่ว่าก็มีสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสามารถเตรียมตัวรับมือกันได้แบบง่ายๆ นั่นก็คือ
- ติดตามสถานการณ์น้ำและพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิดจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล หรือกรมอุตุนิยมวิทยา
- วางแผนรับมือน้ำท่วม สำรวจจุดที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมและได้รับความเสียหาย เช่น ชั้นหนังสือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของมีค่า หากบ้านไม่มีชั้นสอง ให้ยกขึ้นที่สูงให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ในส่วนของยานพาหนะให้เคลื่อนย้ายไปอยู่ในพื้นที่จอดที่พ้นระดับน้ำ
- จัดเตรียมกระสอบทรายหรืออุปกรณ์ป้องกันน้ำในกรณีที่สถานการณ์มีความเสี่ยงสูง
- ปิดแก๊ส ตัดกระแสไฟฟ้า และปิดปลั๊กไฟด้วยเทปกาว เพื่อป้องกันกระแสไฟรั่วไหลและก่อให้เกิดอันตราย
- เตรียมการในกรณีที่ครอบครัวอาจเกิดพลัดหลงกันเมื่อน้ำมาถึง ด้วยการใส่ข้าวของที่จำเป็นในถุงซิปล็อกหรือกระเป๋าที่กันน้ำ โดยสิ่งสำคัญคือเบอร์โทรศัพท์ เอกสารสำคัญเช่นบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีธนาคาร นอกจากนี้ยังควรเตรียมน้ำดื่มสะอาด ยาสามัญประจำบ้าน ไฟฉาย กรรไกรหรือมีด ใส่ไว้ในกระเป๋าที่พร้อมเคลื่อนย้ายและพกพาสะดวก
- เตรียมการนัดแนะจุดนัดพบในกรณีหากันไม่เจอเมื่อน้ำมาถึง และเกิดการพลัดหลง
ดูแลบ้านหลังน้ำท่วมยังไงได้บ้าง?
- เดินสำรวจบ้านอย่างระมัดระวัง ควรใส่รองเท้ายาง และถุงมือยางเพื่อความปลอดภัย เช็กและตัดระบบไฟฟ้าที่จ่ายเข้าบ้าน เช็กสายไฟและถังแก๊ส หากรู้สึกได้กลิ่นแก๊สรั่ว ให้ออกมาจากบริเวณนั้นและรีบโทรแจ้งหน่วยฉุกเฉิน
- อย่าเพิ่งใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในทันที ให้เรียกช่างไฟมาลองตรวจสอบก่อน
- เดินสำรวจพร้อมถ่ายรูปความเสียหายภายในบ้าน เพื่อเป็นหลักฐานในกรณีที่ต้องเรียกค่าชดเชยจากประกันภัย
- เปิดประตูหน้าต่างทุกบานเพื่อระบายความชื้นที่อาจส่งผลต่อบ้านในระยะยาว
- เช็กสัตว์อันตรายที่อาจแอบซ่อนอยู่หลังน้ำลด
- ตรวจสอบท่อน้ำว่ามีรอยแตกหรือรั่วไหม ถ้าพบให้ปิดวาล์วทันที และงดใช้น้ำในการประกอบอาหาร จนกว่าจะแน่ใจว่าสะอาดและปลอดภัย
- อย่าเพิ่งทาสีบ้านใหม่ในทันที เพราะผนังอาจจะยังชื้นและทำให้สีติดยาก ควรเว้นระยะหนึ่งเดือนเพื่อให้แน่ใจว่าผนังแห้งสนิทพร้อมทาสีใหม่
- สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่เปียกน้ำไม่ใช่ทุกชิ้นที่ตากแดดให้แห้งได้ เช่น ไม้จริง พลาสติก หรือเครื่องหนัง แนะนำให้ใช้ผ้าแห้งคอยเช็ด หรือตากไว้ในที่ร่ม
- หากพบเชื้อราในบ้านให้ใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาซักผ้าผสมในน้ำอัตราส่วน 1 ถ้วย (300 มิลลิลิตร) ต่อน้ำประมาณ 3.8 ลิตร เช็ดคราบเชื้อรา โดยเช็ดทิ้งไว้ประมาณ 15 - 30 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำ
ขอขอบคุณภาพเหตุการณ์ทั้งหมดจาก เทศบาลนครระยอง
ข้อมูลที่ควรรู้เพิ่มเติม!
กดติดตามข้อมูลข่าวสารและการเตือนภัยพิบัติได้ที่
- กรมอุตุนิยมวิทยา (พยากรณ์อากาศ เส้นทางพายุ และปริมาณน้ำฝน)
- กรมทรัพยากรน้ำ (เตือนภัย เช็กสถานการณ์น้ำ และข้อมูลน้ำในแต่ละพื้นที่ลุ่มน้ำ)
- ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ข้อมูลภัยพิบัติ และการแจ้งเตือนพื้นที่ภัยพิบัติ)
- กรมทรัพยากรธรณี (เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม)
- สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (ข้อมูลอากาศ และระบบน้ำในเขื่อนและน้ำทะเล)
- กรมชลประทาน (ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ลำน้ำ และการปล่อยน้ำ)
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ข้อมูลภัยพิบัติ แจ้งเตือนพื้นที่ภัยพิบัติ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย)
เมื่อน้ำท่วมและต้องการติดต่อฉุกเฉิน จดเบอร์โทรนี้ไว้เลย
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โทร 1784
- ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โทร 192
- กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 1182
- กรมชลประทาน โทร 1460
- ศูนย์ปลอดภัยทางน้ำ โทร 1199
- บริการแพทย์ฉุกเฉิน โทร 1669
ภัยพิบัติต่างๆ เป็นเรื่องที่หลายคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เราทุกคนทำได้คือการมีสติ เตรียมพร้อมกับสิ่งที่เกิดขึ้น เช็กขั้นตอนวิธีการต่างๆ ให้พร้อม และดูแลบ้านของเราหลังภัยพิบัติผ่านไปอย่างเข้าใจ เท่านี้บ้านของเราก็จะกลับมาน่าอยู่เหมือนเดิมแล้ว
เราจะผ่านมันไปด้วยกันนะ
ไม่พลาดทุกข่าวสารเรื่องบ้านและความเป็นอยู่ในระยองกับ ‘ระยองน่าอยู่’ แพลตฟอร์มหาบ้าน ที่ดิน คอนโด หอพัก ทั่วเมืองระยอง ทั้งบ้านมือ 1, มือ 2
ติดตามเราได้ที่
Website : www.nayoo.co (ไม่มี m)
Facebook : ระยองน่าอยู่
มองหาบ้านน่าอยู่ มองหาระยองน่าอยู่
ใช้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย