ระวังโดนยึดที่ดินทิ้งร้าง ! แม้เสียภาษีที่ดินว่างเปล่าแล้ว

คนที่ปล่อยที่ดินทิ้งร้างระวังไว้ให้ดี ! เพราะถึงแม้เราจะเสียภาษีที่ดินว่างเปล่าแล้ว ก็อาจโดนรัฐบาลยึดคืนได้เช่นกัน ได้ยินแบบนี้หลายคนอาจตกใจและกังวลไปตาม ๆ กัน  แต่ไม่ต้องตกใจไปครับเพราะไม่ใช่ว่าทุกที่ดินว่างเปล่าจะโดนยึดไปได้ง่าย ๆ วันนี้น่าอยู่จะพาทุกคนมาศึกษารายละเอียดเงื่อนไขไปพร้อม ๆ กันครับ

ตอบข้อสงสัย หากปล่อยที่ดินร้างเกิน 10 ปี จะโดนรัฐบาลยึดคืน จริงหรือไม่

คำถามที่หลายคนสงสัยว่า “หากปล่อยที่ดินร้างเกิน 10 ปี จะโดนรัฐบาลยึดคืน จริงหรือไม่ ?” คำตอบคือ จริงครับ ถึงแม้เราจะเสียภาษีที่ดินว่างเปล่าไปแล้วก็ตาม แต่หากปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าเกิน 10 ปีก็อาจโดนรัฐบาลยึดคืนไปได้ แต่จะมีรายละเอียดยังไงบ้าง ไปดูกันเลยครับ

กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

การปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ถึงแม้จะเสียภาษีที่ดินว่างเปล่าแล้วก็อาจโดนยึดที่ดินคืนได้ โดยมีกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ครับ

มาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน บัญญัติว่า บุคคลใดมีสิทธิในที่ดินตามโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่บุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

  • สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ปล่อยที่ดินทิ้งร้างเกิน 10 ปีติดต่อกัน
  • สำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ปล่อยที่ดินทิ้งร้างเกิน 5 ปีติดต่อกัน

ให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือที่ปล่อยให้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ถึงแม้จะมีการเสียภาษีที่ดินว่างเปล่าก็ตาม เมื่ออธิบดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ต่อไป

สำหรับใครที่อยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ และเอกสารสิทธิ์ประเภทอื่น ๆ สามารถตามไปอ่านกันได้ที่ เรื่องน่ารู้ชวนคิด เอกสารสิทธิ์เกี่ยวกับที่ดิน กันได้เลยครับ

สำหรับขั้นตอนการยึดที่ดินจะเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ. 2522 ซึ่งจะมีขั้นตอนดังนี้

  1. ภายในทุกเดือนมกราคมของทุกปี จังหวัดจะสำรวจว่ามีที่ดินแปลงใดถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่ดินว่างเปล่าบ้าง จากนั้นก็จะส่งรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ
  2. ให้จังหวัดหรืออำเภอแล้วแต่กรณี ทำหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดิน และผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้เช่า ผู้รับจำนอง เพื่อให้เข้าทำประโยชน์ภายใน 3 เดือน นับแต่ได้รับแจ้ง
  3. หากพ้นกำหนดแล้วไม่ทำประโยชน์ ให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง แล้วทำความเห็นเสนอกรมที่ดิน เพื่อส่งเรื่องให้อัยการฟ้องร้องดำเนินคดีทางศาลต่อไป

การพิจารณาว่าที่ดินแปลงใดเป็นที่ดินว่างเปล่า จะพิจารณาว่าที่ดินนั้นได้มีการทำประโยชน์หรือไม่ ถ้าเพียงแค่ล้อมรั้วหรือเสียภาษีที่ดินว่างเปล่า แต่ไม่ทำประโยชน์ ก็ถือว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่ดี

แต่สำหรับที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านหรือในเมืองแม้จะยังไม่ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัย แต่เจ้าของยังมีเจตนายึดถือเพื่อตนอยู่ ก็ให้ถือว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินที่ได้ทำประโยชน์แล้วโดยสภาพ

ผลดีของการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน

การเข้าทำประโยชน์ในที่ดินมีผลดีทั้งต่อตัวเองและต่อประเทศ โดยสามารถสรุปผลดีของการทำประโยชน์ในที่ดิน ได้ดังนี้ครับ

  1. ผลดีต่อตนเอง หากเจ้าของที่ดินเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของตัวเอง ก็จะส่งผลให้มีรายได้มากขึ้น หรือลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้ และยังเป็นการป้องกันปัญหาการบุกรุกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินจากผู้อื่น ป้องกันการโดนครอบครองปรปักษ์ เพราะเมื่อเราเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของเราแล้วก็ยากที่จะมีผู้อื่นเข้ามาบุกรุกที่ดินของเรา
  2. ผลดีต่อประเทศ หากมีการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินก็จะเป็นการเพิ่มผลผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการจ้างงาน ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น และเมื่อประชาชนมีรายได้พอเพียง ก็จะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจสังคม และการเมืองของประเทศโดยรวม

สำหรับใครที่อยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ สามารถตามไปอ่านกันได้ที่ ครอบครองปรปักษ์คืออะไร เรื่องควรรู้ก่อนเสียทรัพย์ให้คนอื่น กันได้เลยครับ

ผลเสียของการไม่เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน

ผลเสียของการไม่เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน มีผลกระทบทั้งต่อตัวเราเองและต่อประเทศเช่นกัน โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ปัญหา ได้แก่ ปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาทางสังคม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  1. ปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศจึงมาจากผลผลิตทางเกษตร การปล่อยทิ้งที่ดินว่างเปล่าถึงแม้จะเสียภาษีที่ดินว่างเปล่าแล้ว อาจส่งผลให้ไม่มีการเพิ่มผลผลิตทางเกษตร หรือผลผลิตลดลงไม่เพียงพอแก่การอุปโภค บริโภค ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
  2. ปัญหาทางสังคม ปัจจุบันการครอบครองที่ดินว่างเปล่า มักมาจากผู้ที่กว้านซื้อที่ดินเอาไว้แล้วไม่ทำประโยชน์ จึงมีผลกระทบถึงประชาชนที่เป็นเกษตรกร ทำให้ไม่มีที่ดินทำกิน ก่อให้เกิดการบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินที่เจ้าของทอดทิ้ง ก่อให้เกิดปัญหาแย่งชิงที่ดินทำกิน เกิดความไม่สงบสุขภายในสังคมตามมา

แนวทางการทำประโยชน์ในที่ดิน

อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคงเข้าใจกันแล้วใช่มั้ยครับว่าทำไมเราถึงต้องทำประโยชน์ในที่ดินแม้จะเสียภาษีที่ดินว่างเปล่าแล้วก็ตาม สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะทำประโยชน์อะไรในที่ดินว่างเปล่าของตัวเองดี วันนี้น่าอยู่ได้นำแนวทางการทำประโยชน์ในที่ดินมาฝากทุกคนกันครับ

แนวทางการทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับความนิยม คือ การทำเกษตร นั่นเอง เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมเหมาะกับการทำเกษตร และผลผลิตสามารถนำไปอุปโภค บริโภคเองก็ได้ หรือจะนำไปขายเป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่งของเราก็ได้

นอกจากนี้ที่ดินเพื่อการเกษตรยังได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่างจากที่ดินรกร้างที่ต้องเสียภาษีที่ดินว่างเปล่า ซึ่งหากทำเกษตรก็สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้นั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น น้องน่าอยู่มีที่ดินรกร้างมูลค่า 40 ล้าน หากปล่อยไว้เป็นที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์จะเสียอัตราภาษีที่ดินว่างเปล่า 0.3% ทำให้ต้องเสียภาษีที่ดินว่างเปล่า 120,000 บาทต่อปี

แต่หากหันมาทำเกษตรกรรมจะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากเกณฑ์การเสียภาษีของที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีมูลค่า 0-50 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ที่เราเคยกล่าวไว้ในบทความ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉบับอัปเดท 2566

การจะทำเกษตรกรรมเพื่อได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่เพียงแค่ปลูกพืช 5 ต้น และจะบอกว่าเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ แต่มี หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ตามที่ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ว่าต้องทำการเกษตรในอัตราขั้นต่ำเท่าไหร่บ้าง

สำหรับใครที่อยากศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สามารถตามไปอ่านกันต่อได้ที่ ทำเกษตรกรรม เลี่ยงภาษีที่ดินได้จริงหรือไม่ ? กันได้เลยครับ

บทสรุป

จบกันไปแล้วกับการไขข้อสงสัยว่าหากปล่อยที่ดินทิ้งร้างนานเกิน 10 ปี จะโดนรัฐยึดคืนหรือไม่? คำตอบคือ สามารถโดนยึดคืนได้ แต่ก็มีรายละเอียดเงื่อนไขที่ได้กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ทุกคนอย่าลืมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมหรือปรึกษาเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญกันด้วยนะครับ

สำหรับใครที่กำลังมองหาซื้อที่ดินขอนแก่นอยู่ สามารถเข้ามาเลือกชม ประกาศซื้อขายที่ดินขอนแก่น ได้ที่เว็บไซต์ขอนแก่นน่าอยู่ แหล่งรวมประกาศขายที่ดินสวย ๆ ทำเลฮิตในขอนแก่นกว่า 400 แห่ง และยังมีสาระน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกด้วย

บทความแนะนำ

อ้างอิง

กดติดตาม "ขอนแก่นน่าอยู่" เพื่อ หาบ้านมือ 1, หาคอนโด, บ้านมือ 2, ที่ดิน รวมถึงหาเช่า/หอพักทั่วเมืองขอนแก่นเพิ่มเติมได้ที่บนเว็บไซต์