แชร์กิจกรรมวันเข้าพรรษา มีอะไรบ้าง? ชี้ของถวายเสริมบุญยอดนิยม

หากพูดถึงวันเข้าพรรษาเป็นอีกวันที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่ก็อาจจะมีหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าวันพรรษามีประวัติความเป็นมาและความสำคัญอย่างไร กิจกรรมวันเข้าพรรษามีอะไรบ้าง เกี่ยวข้องกับกิจกรรมถวายเทียนพรรษาอย่างไร และชาวพุทธทั่วโลกนิยมถวายอะไรในวันเข้าพรรษา

เพื่อช่วยเคลียร์ข้อสงสัยเหล่านี้บทความนี้น้องน่าอยู่จึงขอนำเสนอเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาวันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษาทำอะไรบ้าง กิจกรรมถวายเทียนพรรษาคืออะไร ความสำคัญของกิจกรรมวันเข้าพรรษา ของถวายเสริมบุญวันเข้าพรรษายอดนิยม หากพร้อมแล้วไปกันเลยครับ

ประวัติความเป็นมากิจกรรมวันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา 2568 ตรงกันวันวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2568 สำหรับวันเข้าพรรษาเป็นวันเริ่มต้นที่พระสงฆ์ต้องพักประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่งตลอดฤดูฝนเป็นเวลา 3 เดือน โดยต้องไม่ไปค้างแรมที่อื่น ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่พระวินัยบัญญัติไว้ ระยะเวลา 3 เดือนจะเริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 การจำพรรษานี้เป็นข้อปฏิบัติที่พระสงฆ์ทุกรูปต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าอาบัติทุกกฎตามพระวินัย แต่หากมีเหตุจำเป็นที่ชอบด้วยพระวินัยสามารถไปพักที่อื่นได้แต่ต้องกลับมาพักที่เดิมภายใน 7 วัน

ประวัติความเป็นมาของการเข้าพรรษามีเรื่องเล่า ในช่วงแรกของการประกาศพระพุทธศาสนาพระภิกษุสงฆ์ยังมีจำนวนไม่มาก พระพุทธเจ้าจึงยังไม่ได้บัญญัติพระวินัยเรื่องการจำพรรษา แต่เมื่อมีจำนวนพระภิกขุสงฆ์มากขึ้นจึงเกิดปัญหาพระสงฆ์เหยียบย่ำต้นกล้าข้าว พืชพันธุ์เกิดใหม่ และสัตว์เล็กตายเป็นจำนวนมาก ความเดือดร้อนนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลา 3 เดือน และนี่คือจุดเริ่มต้นของกิจกรรมวันเข้าพรรษา

กิจกรรมวันเข้าพรรษา มีอะไรบ้าง

กิจกรรมวันเข้าพรรษาได้ก่อเกิดประเพณีที่สำคัญ 2 ประเพณีที่ชาวพุทธสืบสานปฏิบัติตามกันมา ก็คือ การถวายผ้าน้ำฝนให้กับพระภิกษุสงฆ์ และกิจกรรมถวายเทียนพรรษาเนื่องจากพระสงฆ์มีความจำเป็นต้องใช้แสงสว่างในการศึกษาพระธรรมต่างๆ และสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้า จึงเป็นที่มาของประเพณีถวายเทียนพรรษาได้ถูกพัฒนาต่อยอดไปสู่ประเพณีแห่เทียนพรรษาในปัจจุบัน แล้วกิจกรรมวันเข้าพรรษาอื่นๆ ที่น่าสนใจในวันเข้าพรรษาทำอะไรบ้าง ขอแนะนำดังต่อไปนี้

วันเข้าพรรษาทำอะไรบ้าง

กิจกรรมวันเข้าพรรษาต่างๆ ที่ศาสนิกชนชาวพุทธในประเทศไทยนิยมปฏิบัติมีดังต่อไปนี้

  • ทำบุญตักบาตรในตอนเช้าอุทิศส่วนกุศลให้ตนเองและครอบครัว
  • ถวายสังฆทานสิ่งของจำเป็นในการจำพรรษาแก่พระภิกษุสงฆ์
  • ฟังธรรมเทศนา
  • เวียนเทียนที่วัดใกล้บ้าน เพื่อระลึกถึงพระคุณรัตนตรัยและชำระจิตใจให้บริสุทธิ์
  • ทำบุญทอดผ้าป่า
  • ร่วมหล่อเทียนพรรษา
  • ถวายเทียนพรรษา
  • ร่วมกิจกรรมแห่เทียนพรรษา

กิจกรรมถวายเทียนพรรษา คืออะไร

กิจกรรมถวายเทียนพรรษา คือ กิจกรรมที่ชาวพุทธจะนำเทียนพรรษาไปถวายพระภิกษุสงฆ์ในเทศกาลเข้าพรรษา โดยเทียนพรรษาจะมีลักษณะเป็นเทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนปกติ ใช้สำหรับจุดในโบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา

การหล่อเทียนพรรษามีการวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การนำรังผึ้งมาฟั่นเป็นเทียน นำเทียนต้นเล็กๆ มัดรวมใช้ไม้ไผ่เป็นแกนแล้วใช้กระดาษเงินกระดาษทองติดเป็นลวดลายให้สวยงาม จนมีการคิดค้นทำเป็นต้นเทียนขนาดใหญ่เพื่อให้จุดได้นานขึ้น รวมไปถึงมีการแกะสลักลายบนเทียนร่วมขบวนแห่เทียนพรรษาถวายพระที่วัด

ประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นการนำเทียนพรรษาที่ชาวบ้านจะนำไปถวายให้กับพระภิกษุสงฆ์จัดขบวนแห่กันอย่างสนุกสนาน มีการฟ้อนรำประกอบดนตรี จัดรูปขบวนแห่ให้สวยงาม รวมไปถึงการประกวดเทียนพรรษาจนกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างเช่น ประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี

ความสำคัญของกิจกรรมวันเข้าพรรษา

กิจกรรมวันเข้าพรรษาถือว่าเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อทั้งพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ที่พระสงฆ์จะได้มีเวลาศึกษาพระธรรมคำสอนมากขึ้น ในขณะที่ชาวพุทธได้ใกล้ชิดพระศาสนามากขึ้น ขอนำเสนอความสำคัญของวันเข้าพรรษาเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

  1. ช่วงการเข้าพรรษาเป็นช่วงฤดูทำนาทำไร่ของชาวบ้าน การที่พระพุทธเจ้ากำหนดให้พระภิกษุสงฆ์หยุดเดินทางพักอยู่ที่ใดที่หนึ่ง จะช่วยให้ต้นกล้าของพันธุ์พืชและสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่ถูกรบกวนหรือรับความเสียหายจากการเดินธุดงค์ของพระสงฆ์
  2. เป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้หยุดพักผ่อนจากการเผยแพร่พระพุทธศาสนา หลังจากที่มีการเดินทางเพื่อเผยแพร่พระศาสนาต่อเนื่องยาวนาน 8-9 เดือน
  3. ช่วยให้พระสงฆ์มีเวลาปฏิบัติธรรมสำหรับตัวเอง ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนมากขึ้นเพื่อที่จะนำความรู้จากการศึกษาไปสั่งสอนประชาชนเผยแผ่พระศาสนาเมื่อถึงวันออกพรรษา
  4. เป็นช่วงเวลาที่ชาวพุทธหลายครอบครัวเลือกบวชให้กับบุตรชาย เพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่และศึกษาพระศาสนา
  5. เป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือโอกาสนี้บำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญ ฟังพระธรรมเทศนา ถวายหลอดไฟหรือเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน
  6. วันเข้าพรรษาถือว่าเป็น "วัดงดดื่มสุราแห่งชาติ" เป็นกิจกรรมที่รณรงค์ให้พุทธศาสนิกชนงดดื่มสุราตลอดช่วง 3 เดือนที่เข้าพรรษา และตั้งจิตอธิษฐานที่จะลด ละ เลิกสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ

ของถวายการเข้าพรรษาเสริมบุญยอดนิยม

หนึ่งในกิจกรรมวันเข้าพรรษา ก็คือ การถวายสิ่งของจำเป็นในการจำพรรษาให้กับพระสงฆ์  ขอแนะนำของถวายเสริมบุญยอดนิยมดังต่อไปนี้

  1. ผ้าอาบน้ำฝน: ในอดีตพระสงฆ์มีเครื่องใช้ค่อนข้างจำกัดในฤดูฝนการอาบน้ำจึงเป็นเรื่องลำบาก ทำให้เกิดประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝนร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติธรรมในการเข้าพรรษา
  2. การถวายเทียนพรรษา: ชาวพุทธมีความเชื่อว่า การถวายเทียนพรรษาเป็นเหมือนการให้แสงสว่างก็คือการให้ปัญญา จะส่งผลให้ชีวิตสว่างรุ่งเรืองดุจแสงเทียนที่ได้จากเทียนพรรษา
  3. ทำบุญตักบาตร: ช่วงเข้าพรรษาพุทธศาสนิกชนก็จะเข้าวัดทำบุญตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล เป็นการชำระล้างจิตใจให้ห่างไกลจากอบายมุข และช่วยสร้างสติปัญญาในการดำเนินชีวิต
  4. ทำบุญช่วยเหลือผู้ยากไร้: นอกจากการทำบุญให้กับวัดเพื่อบำรุงพระศาสนาแล้ว การทำบุญช่วยเหลือผู้ยากไร้ก็ได้รับความนิยมไม่น้อย สามารถทำได้ทั้งผ่านมูลนิธิต่างๆ หรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์

บทสรุป

จบไปแล้วกับกิจกรรมวันเข้าพรรษา ประวัติความเป็นมา พร้อมแนะนำของทำบุญยอดนิยม หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับสำหรับผู้ที่กำลังสนใจศึกษาเรื่องราวการเข้าพรรษาไม่มากก็น้อยนะครับ

สำหรับใครที่กำลังมองหาบ้านเดี่ยว, บ้านแฝด, คอนโดและทาวน์โฮม สามารถเข้ามาเลือกชมได้ที่เว็บไซต์น่าอยู่ นอกจากนี้ยังมีสาระน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับบ้านที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้ติดตามกันอีกด้วยนะครับ

บทความแนะนำ

- ปฏิทินอีเว้นท์งานบุญประจำภาคอีสาน 12 เดือน

- มัดรวม 13 สถานที่ฝังลูกนิมิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

- How to จัดฮวงจุ้ยบ้านอย่างไรให้รวย? เรียกทรัพย์ เงินไม่ขาดมือ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

- วันเข้าพรรษา