ทำเกษตรกรรม เลี่ยงภาษีที่ดินได้จริงหรือไม่ ?
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นหน้าที่ที่เราต้องไปจ่ายภาษีตามกฎหมาย หากเราเข้าเงื่อนไขที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่หลายคนอาจเคยได้ยินมาว่าทำเกษตรกรรมสามารถเลี่ยงภาษีที่ดินได้ จริงหรือไม่? ในบทความนี้น่าอยู่จะพาทุกคนไปหาคำตอบกันครับ
ทำความรู้จักประเภทที่ดินตามพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ก่อนอื่นเรามาเริ่มทำความรู้จักประเภทที่ดินตามพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกันก่อนเลยดีกว่า เพราะการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นตัวกำหนดอัตราภาษีที่ดิน ซึ่งที่ดินแต่ละประเภทมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์หรืออื่น ๆ ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมตามที่ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยกำหนด
โดยเจ้าของที่ดิน หากเป็นบริษัทต้องขึ้นทะเบียนว่าทำเกษตรกรรมแล้ว หากเป็นบุคคลธรรมดาต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร หรือเป็นที่ดินที่มีการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ตามเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมที่กำหนดไว้
2. ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ประโยชน์เพื่ออยู่อาศัย เช่น บ้านหรือคอนโด บ้านหลังหลักที่เราอยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือบ้านหลังที่ 2 ที่เราซื้อเอาไว้ ก็ต้องนำมาพิจารณาในการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
แต่กฎหมายได้มีการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในกรณีบ้านหลักหลังแรกที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านสูงสุดถึง 50 ล้านบาท หากใครมีที่อยู่อาศัยหลายแห่ง การโอนกรรมสิทธิ์ให้กับบุคคลใกล้ชิดเพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับบ้านหลังหลักจะช่วยลดภาษีในส่วนนี้ได้เช่นกัน
3. ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ประโยชน์ด้านพาณิชยกรรม เช่น อุตสาหกรรม โรงแรม ร้านอาหาร สำนักงาน เป็นต้น
หรือตาม พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ได้กล่าวไว้ว่าเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากเกษตรกรรมและการอยู่อาศัย
4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ใด ๆ ทั้ง ๆ ที่สภาพสามารถนำมาทำประโยชน์ได้ ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วยเช่นกัน
ซึ่งที่ดินประเภทนี้มีอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่สูงกว่าประเภทอื่น ๆ หลายคนจึงพยายามหาวิธีในการลดภาษีที่ดินกันนั่นเอง
สำหรับใครที่อยากศึกษาเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและอัตราภาษีแต่ละประเภทเพิ่มเติม สามารถตามไปอ่านที่ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉบับอัปเดท 2566 กันได้เลยครับ
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดิน
เมื่อพูดถึงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษีที่ดินกันไปแล้ว ต่อไปจะพาทุกคนไปดูกันว่ามีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอะไรที่ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบ้าง ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยครับ
ตาม พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาตรา 8 ได้พูดถึงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งประกอบด้วยทรัพย์สินดังต่อไปนี้
- ทรัพย์สินของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐซึ่งใช้ในกิจการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ หรือในกิจการสาธารณะ ทั้งนี้ต้องไม่ได้ใช้หาผลประโยชน์
- ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษขององค์การ สหประชาชาติหรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยมีข้อผูกพันที่ต้องยกเว้นภาษีให้ตามสนธิสัญญา หรือตามที่ตกลงไว้
- ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการสถานทูตหรือสถานกงสุลของต่างประเทศ
- ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย
- ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติไม่ว่าของศาสนาใดที่ใช้เฉพาะเพื่อการประกอบศาสนกิจหรือ กิจการสาธารณะ หรือทรัพย์สินที่เป็นที่อยู่ของสงฆ์ นักพรต นักบวช หรือบาทหลวง ไม่ว่าในศาสนาใด หรือทรัพย์สินที่เป็นศาลเจ้า ทั้งนี้ต้องไม่ได้ใช้หาผลประโยชน์
- ทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทน
- ทรัพย์สินที่เป็นของมูลนิธิหรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด ทั้งนี้ต้องไม่ได้ใช้หาผลประโยชน์
- ทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
- ทรัพย์ส่วนกลางที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
- ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน
- ที่ดินอันเป็นพื้นที่สาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น
- ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินของบุคคลซึ่งได้รับเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป
- สิ่งปลูกสร้างที่เป็นบ่อน้ำที่ใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ
- สิ่งปลูกสร้างที่เป็นถนน ลาน และรั้ว
สำหรับใครที่สนใจอยากศึกษาเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน สามารถตามไปอ่านได้ที่ ทำความรู้จักกฎหมายผังเมือง แผนกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน กันได้เลยครับ
หลักเกณฑ์ที่เข้าข่ายการเป็นที่ดินเกษตรกรรม
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นเกี่ยวกับที่ดินเพื่อการเกษตรว่าต้องมีการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ตามเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมที่กำหนดไว้ ไม่ใช่ว่าแค่ปลูกพืช 5 ต้น และจะบอกว่าเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้
ดังนั้นเรามาดูกันเลยครับว่า หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ตามที่ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยกำหนด มีอะไรบ้าง
สำหรับการทำการเกษตรที่เป็นการปลูกพืช ไม่ว่าจะทำไร่ ปลูกผัก ปลูกไม้ผล ปลูกสวนป่า ปลูกป่าเศรษฐกิจที่มีชนิดพืชตามที่กำหนด จะต้องทำการเกษตรให้ได้อัตราขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ ซึ่งน่าอยู่ขอยกตัวอย่างชนิดพืชคร่าว ๆ ดังนี้
สำหรับการทำปศุสัตว์หรือเพาะแมลงเศรษฐกิจตามชนิดที่กำหนด ต้องเลี้ยงขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้จึงจะเข้าข่ายการทำเกษตรกรรม ซึ่งน่าอยู่ขอยกตัวอย่างชนิดสัตว์คร่าว ๆ ดังต่อไปนี้
และกรณีที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ถือว่าการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นการใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม
- พื้นที่บ่อดิน บ่อปูน กระชังบก บ่อพลาสติก โรงเพาะฟัก หรือพื้นที่ที่ใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในลักษณะอื่น ที่เจ้าของมีจุดประสงค์เพื่อใช้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยตรง
- ที่ดินที่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องที่มีกิจกรรมใช้เพื่อประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น บ่อพักน้ำ คลองส่งน้ำ และรวมถึงสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่ใช้ประโยชน์เพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
จากเกณฑ์เหล่านี้ทำให้เจ้าของที่ดินรกร้างบางคน หันมาทำเกษตรกรรมเพื่อที่จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น น้องน่าอยู่มีที่ดินรกร้างมูลค่า 40 ล้าน หากปล่อยไว้เป็นที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์จะเสียอัตราภาษี 0.3% ทำให้ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 120,000 บาทต่อปี
แต่หากหันมาทำเกษตรกรรมจะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากเกณฑ์การเสียภาษีของที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีมูลค่า 0-50 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ที่เราเคยกล่าวไว้ในบทความ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉบับอัปเดท 2566
ทำให้หลังจากมีการประกาศเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงเกิดปรากฎการณ์มีสวนกล้วย สวนทุเรียนขึ้นกันเต็มไปทั่วเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรจำแลงที่ทำเกษตรเพื่อต้องการลดภาษี
การเลี่ยงภาษีลักษณะนี้ทำให้รัฐบาลเสียรายได้ในส่วนนี้ไป เราต้องรอติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อควบคุมการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมหรือไม่
บทสรุป
สรุปว่าทำเกษตรกรรมเลี่ยงภาษีได้จริงหรือไม่ ? คำตอบคือการทำเกษตรกรรมสามารถลดภาษีได้ หากมีการทำเกษตรตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพราะกฎหมายมีการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มูลค่า 0 - 50 ล้านบาท
หวังว่าทุกคนจะได้รับความรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากขึ้นนะครับ อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ทุกคนอย่าลืมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมหรือปรึกษาเจ้าหน้าที่ก่อนชำระภาษีด้วยนะครับ
สำหรับใครที่กำลังมองหาซื้อที่ดินขอนแก่นอยู่ สามารถเข้ามาเลือกชม ประกาศซื้อขายที่ดินขอนแก่น ได้ที่เว็บไซต์ขอนแก่นน่าอยู่ แหล่งรวมประกาศขายที่ดินสวย ๆ ทำเลฮิตในขอนแก่นกว่า 400 แห่ง และยังมีสาระน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกด้วย
บทความแนะนำ
- บทความชวนรู้จักราคาประเมินที่ดินพร้อมวิธีประเมินง่าย ๆ
- บทความค่าโอนที่ดินฉบับอัพเดท 2566 พร้อมวิธีคำนวณแบบง่าย ๆ
- บทความทำความรู้จักสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งที่ควรรู้ก่อนทำสัญญา
อ้างอิง
- บทความภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 2566 (update ล่าสุด)
- บทความเกษตรจำแลงพรึบทั่วกทม. รับสิทธิ์จ่ายภาษีที่ดินราคาถูก
กดติดตาม "ขอนแก่นน่าอยู่" เพื่อ หาบ้านมือ 1, หาคอนโด, บ้านมือ 2, ที่ดิน รวมถึงหาเช่า/หอพักทั่วเมืองขอนแก่นเพิ่มเติมได้ที่บนเว็บไซต์
- Website : www.NaYoo.co (ไม่มี m)
- Facebook : ขอนแก่นน่าอยู่
- YouTube : https://www.youtube.com/c/khonkaennayoo