ในยุคที่หันไปทางไหนก็มีแต่บ้านที่เป็นสมาร์ทโฮม แล้วสมาร์ทโฮมคืออะไร ทำไมใครๆก็ใช้ วันนี้ ‘บุรีรัมย์น่าอยู่’มาไขคำตอบให้แล้วกับ 5 ระบบอัจฉริยะ ที่เปลี่ยนบ้านธรรมดาให้เป็นบ้าน smart home สุดไฮเทค!

สมาร์ทโฮม คืออะไร?

สมาร์ทโฮม (Smart home) หรือ บ้านอัจฉริยะ คือ บ้านที่มีการนำเอาเทคโนโลยี Internet of things หรือ IoT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆให้สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันได้ด้วยระบบ internet นำไปสู่ความสะดวกสบาย และแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น การสื่อสารผ่าน Google assistant ทั้งแบบผ่านแอปพลิเคชันและ Voice Control เพื่อให้ช่วยปฏิบัติงานบางอย่างแทนผู้ใช้จากระยะไกล

สมาร์ทโฮม มีอะไรบ้าง ?

แม้ในปัจจุบันคนเรามักจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในที่ทำงาน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “บ้าน” คือสถานที่ที่ดีที่สุดในการพักผ่อน และเป็นสถานที่ที่เราโหยหาความสะดวกสบายมากที่สุด นอกจากการที่สมาร์ทโฮมจะช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้เราผ่านการทำหน้าที่แทน สมาร์ทโฮมยังเป็นเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังช่วยดูแลความปลอดภัยแทนเจ้าของบ้านได้อีกด้วย มาลองดูกันว่าสมาร์ทโฮมที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง

1.ระบบเครือข่าย (network) : ระบบเครือข่ายเป็นระบบแรกๆที่ควรคำนึงเมื่ออยากเปลี่ยนบ้านเป็นสมาร์ทโฮม เพราะการใช้สมาร์ทโฮมจำเป็นต้องใช้ สัญญาณเครือเดียวกัน และสำหรับบ้านที่มีสองชั้น Router Wireless เพียงตัวเดียวอาจไม่เพียงพอ ก่อนติดตั้งอุปกรณ์สมาร์ทโฮมจึงควรตรวจสอบคุณภาพสัญญาณทั้งความเร็วและความแรง โดยหากสัญญาณไม่ทั่วถึง สามารถแก้ไขได้ โดยการซื้อตัวกระจายสัญญาณเพิ่มเติมนอกเหนือจากตัวที่ได้มาจากผู้ให้บริการ

และนอกจากสัญญาณ WIFI การมีบ้านสมาร์ทโฮมยังจำเป็นต้องมี “HUB” หรือ ตัวควบคุมที่จะทำหน้าที่หลักในการสั่งการเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นผ่านระบบ Wi-Fi , Thread , ZigBee และระบบ Bluetooth ตามแต่ลักษณะของสัญญาณที่เกตเวย์แต่ละรุ่นรองรับ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของผู้ใช้เพราะHUBในบางรุ่นรองรับคนละเครือข่าย และ จำกัดแบรนด์อุปกรณ์เทคโนโลยีที่ใช้ร่วมกัน ตัวอย่างอุปกรณ์เกตเวย์ เช่น Google Nest , Apple HomeKit , SmartThing และ Amazon Echo โดยหากมีอุปกรณ์หลายเครือข่ายสามารถใช้ home assistant ซึ่งเป็น Open Source ที่สามารถรวบรวมอุปกรณ์ IoT ต่างเครือข่ายให้สามารถจัดการได้ภายในแอปพลิเคชันเดียว

2.ระบบไฟฟ้า (electricity) :

การเปลี่ยนระบบไฟฟ้าไปเป็นบ้านสมาร์ทโฮมโดยเฉพาะสวิตช์ จำเป็นต้องมีการวางแผนวงจรและการเดินสายไฟเอาไว้ก่อนเนื่องจาก สวิตช์บางตัวต้องต่อกับสาย N หรือสาย Neutral (สายที่ไฟไหลออกจากอุปกรณ์เพื่อให้ไฟฟ้าครบวงจร (สายศูนย์)) หากไม่ได้ทำการเชื่อมต่อไว้ จำเป็นต้องทุบเพื่อเดินสายไฟใหม่

โดยการเช็กว่าสายไฟที่บ้านมีสาย N หรือไม่ ทำได้โดยดูสายไฟว่ามีสายสีเทาหรือสีฟ้า(น้ำเงิน)หรือไม่ หรือเช็กได้จากการนำไขขวงเดินไฟแตะที่สายไฟ หากไฟไม่ติด 1 ใน 3 สาย แสดงว่าเป็นสาย N แต่ในสวิตช์บางรุ่น ไม่จำเป็นต้องเดินสาย N  ซึ่งต้องใช้การคร่อม หรือ Capacitor (C)แทน นอกจากการเดินวงจรดังกล่าว ยังมีสวิช์ไฟอีกหลายยี่ห้อที่ไม่ต้องเดินสาย N และคร่อม C เช่น สวิช์แบบ Wireless  โดยอาจมีข้อจำกัดในการใช้งานเช่นอายุของแบตเตอรี่ หากสนใจสามารถเลือกซื้อได้ตามลักษณะของการใช้งานแต่ละบ้านที่ร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไปและช่องทางออนไลน์

3.ระบบแสงสว่าง (Lighting System) :

ระบบแสงสว่างเป็นหนึ่งในระบบที่มีให้เลือกเยอะมากในยุคนี้ บ้านสมาร์ทโฮมจึงมีทางเลือกสำหรับหลอดไฟทั้งแบบหลอดเส้น หลอดกลม และมีทั้งแบบระบบเซ็นเซอร์ และแบบคอนโทรลเปิด-ปิดตามระยะเวลาที่ตั้งไว้ โดยหลอดไฟเป็นอุปกรณ์ที่มีความหลากหลาย ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ตามลักษณะการใช้ที่เหมาะสมกับตนเอง สำหรับฟังก์ชันเบื้องต้นของหลอดไฟสมาร์ทโฮมมี ดังนี้

3.1 เปลี่ยนสี : สำหรับคนที่ไม่ชอบหลอดสีขาวหรือสีส้ม ในปัจจุบันเทคโนโลยีหลอดไฟพัฒนาขึ้นมาก ในบางรุ่นมีสีให้เปลี่ยนมากถึง 16 ล้านเฉดสี เช่นรุ่น Lamptan Smart Wifi Bulb , TP-Link Tapo Smart Wi-Fi Light Bulb RGB และ Tuya WiFi/Zigbee Smart Light Bulb RGB

3.2 ระดับความสว่าง : สำหรับระดับความสว่าง ในปัจจุบันสามารถเลือกได้ทั้งแบบสว่างมาก สว่างปานกลาง warm light สำหรับอ่านหนังสือ และไฟสว่างสำหรับกลางคืน โดยหากอยากปรับระดับไฟหลายระดับ สามารถเลือกใช้ DIMMER SWITCH ได้ในอีกหนึ่งทางเลือก เช่น สวิช์ PHILIPS HUE BRIDGE IOT ID/TH และ PHILIPS HUE BRIDGE IOT ID/TH

3.3 ตั้งเวลาเปิด-ปิด : อยากประหยัดไฟมาทางนี้ ข้อดีของการใช้ไฟแบบสมาร์ทโฮมคือสามารถตั้งเวลาเปิดและปิดได้ หมดห่วงสำหรับคนที่ขี้เกียจหรือขี้ลืมปิดไฟ โดยในบางรุ่นสามารถใช้ร่วมกันกับระบบเซ็นเซอร์ทำงานอัตโนมัติได้ เมื่อมีคนผ่าน ไฟจะเปิดอัตโนมัติ ทำให้ไม่ต้องคลำทางในที่มืด เพิ่มความปลอดภัยอีกทั้งยังสะดวกสบาย ตัวอย่าง motion sensor เช่น IOT PHILIPS HUE เป็นต้น

4. ระบบทำความร้อนและเย็น (Refrigeration System &Heater) :

เครื่องปรับอากาศในประเทศไทยค่อนข้างมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ทำให้เทคโนโลยีด้านการทำความร้อนและเย็นน่าจะเป็นเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก โดยทั่วๆไปเครื่องปรับอากาศในยุคนี้สามารถสั่งเปิดและปิดจากนอกบ้านได้ อีกทั้งยังสามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้สามารถเปิดแอร์รอเพื่อให้บ้านเย็นก่อนเข้าบ้านได้ นอกจากนั้นแอร์บางรุ่นยังสามารถใช้ร่วมกับระบบ Temperature Sensor WIFI เปิดใช้งานอัตโนมัติเมื่อตรวจพบความร้อนที่เกินกว่าอุณหภูมิห้องที่ตั้งไว้

5.ระบบรักษาความปลอดภัย (security) : เทคโนโลยีสมาร์ทโฮมด้านความปลอดภัยเริ่มเข้ามามีบทบาทในบ้านมากขึ้น  โดยเฉพาะกลุ่ม Sensor ทั้งSensorดักจับควัน , Sensorประตูรั้วและประตูหน้าต่างภายในบ้าน และ Sensor ตรวจจับน้ำรั่ว เป็นต้น

5.1 ระบบตรวจจับควันและแก๊ส (Smoke Sensor) เป็นระบบที่ตรวจจับควันไฟ โดยการส่งสัญญาณเตือน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณแสงหรือสี สำหรับผู้ที่ไม่อยู่บ้านในยามที่เกิดเหตุการณ์อัคคีภัย Smoke Sensor บางรุ่นสามารถส่ง Notification เข้าโทรศัพท์มือถือได้โดยตรง ทำให้เจ้าของบ้านสามารถแจ้งกับทางนักดับเพลิงได้ทันท่วงที

5.2 ระบบตรวจจับน้ำรั่ว (Water Detector) เป็นระบบที่ตรวจจับการรั่วซึมของน้ำ นอกจากนั้นยังสามารถเตือนเมื่อน้ำขึ้นสูง(เมื่อระดับน้ำสูงเกณฑ์ที่กำหนด) และยังสามารถสั่งปิดวาล์วน้ำ เพื่อป้องกันการรั่วซึม ทำให้ไม่เปลืองค่าน้ำ และยังส่ง Notification ไปยังผู้ใช้ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำรั่วได้ตรงจุด

5.3 ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion Sensor) เป็นแม่เหล็กที่ใช้สำหรับการตรวจจับการเคลื่อนไหวของประตูและหน้าต่าง หากเมื่อตั้งเป็นระบบรักษาความปลอดภัย Sensor จะทำงานทันทีเมื่อมีคนพยายามจะเปิดประตูหรือหน้าต่าง โดยจะแสดงNotificationบนหน้าจอของผู้ใช้

5.4 ระบบประตูไฟฟ้าและอินเตอร์คอม(Intercom) ระบบรักษาความปลอดภัยสมาร์ทโฮมหน้าประตูถือเป็นหนึ่งในด่านแรกสำหรับการป้องกันอันตรายจากคนแปลกหน้า กริ่งและอินเตอร์คอมในปัจจุบันสามารถทำงานร่วมกับAIเพื่อตรวจจับลักษณะใบหน้าของคนแปลกหน้า ทำให้เราสามารถคัดกรองคนแปลกหน้าได้ก่อนระดับหนึ่ง และนอกจากนั้นกริ่งยังสามารถทำงานร่วมกับระบบประตูไฟฟ้า เพื่อควบคุมการเปิดประตู ไม่ใช่แค่เพียงด้านความปลอดภัย ประตูไฟฟ้าที่สามารถควบคุมได้ผ่านโทรศัพท์มือถือยังเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้

สรุป

จะเห็นๆได้ว่าสมาร์ทโฮม เป็นเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยทั้งในเรื่องของความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และยังช่วยประหยัดพลังงาน และนอกจากระบบข้างต้น สมาร์ทโฮมยังมีความสามารถอีกหลายอย่าง เช่น  smart home routines บอกตารางงาน ข่าวสาร อุณหภูมิ ช่วยเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า เตือนการจบการใช้งาน เช่น เครื่องซักผ้า และ เครื่องล้างจาน รวมถึงป้องกันการหลงลืม อันเป็นต้นเหตุของเป็นเกิดอัคคีภัยและค่าไฟอันมหาศาล สมาร์ทโฮมเปรียบเสมือนผู้ช่วยในชีวิตประจำวันที่รู้ใจเรามากที่สุด เพราะฉะนั้นการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์จะช่วยแบ่งเบาภาระ และยังช่วยทดเวลา ให้เรามีโอกาสในการใช้เวลาทำอย่างอื่นได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น

บุรีรัมย์น่าอยู่ | 𝐁𝐮𝐫𝐢𝐫𝐚𝐦 𝐧𝐚𝐲𝐨𝐨 รวมทุกเรื่องที่อยู่ของคนบุรีรัมย์

อย่าลืมกดติดตาม "บุรีรัมย์น่าอยู่" เพื่อ หาบ้านมือ 1, บ้านมือ 2, ที่ดิน รวมถึงหาเช่า/หอพักทั่วเมืองบุรีรัมย์เพิ่มเติมได้ที่