3 ทริค ตรวจบ้านด้วยตัวเอง ง่าย ๆ


หลังจากดูบ้าน คอนโด หรือทาวน์โฮม มานาน เมื่อถึงเวลาตัดสินใจซื้อบ้าน ก็จะมีอีกหนึ่งเช็กลิสต์ที่ขาดไม่ได้ ก่อนจะเซ็นรับมอบบ้าน/โอนบ้าน นั้นคือการตรวจบ้าน หลาย ๆ คนที่ไม่ได้มีเวลาและความรู้เกี่ยวบ้านมากนัก ก็จะเลือกตัดปัญหา โดยการใช้บริการรับตรวจบ้านจากผู้เชี่ยวชาญ แต่วันนี้ระยองน่าอยู่ จะมานำเสนอทริคการตรวจบ้านด้วยตัวเองโดยไม่ต้องง้อช่างเลยค่ะ

การตรวจบ้านนั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย เริ่มต้นที่ต้องมีความกล้าก่อน

การตรวจบ้าน เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเราจะต้องเช็กตำหนิทั้งหมดของบ้าน เพื่อให้โครงการแก้ไขให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะทำการรับมอบบ้าน หากเราเซ็นรับบ้านไปแล้ว ทางโครงการปัดความรับผิด หรือบางรายการเราก็อาจจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการซ่อมแซม ดังนั้น อย่ากลัวที่จะทักทวง โครงการ เมื่อเห็นตรงไหนผิดปกติ เพื่อให้เราได้บ้านที่ดีที่สุดค่ะ

1.ลิสต์รายการที่ต้องตรวจ

การทำเช็กลิสต์สำหรับการตรวจบ้านสำคัญมาก เพื่อให้เวลาที่เราเข้าไปตรวจบ้านจริง ไม่ลืมที่จะตรวจระบบต่าง ๆ หรือ พลาดส่วนสำคัญไป และจะได้ส่งให้โครงการ ทำการแก้ไข รวมถึง ทำให้มีหลักฐานในการทำงานต่าง ๆ ด้วยนะ

ระยองน่าอยู่มีเช็กลิสต์ง่าย ๆ รายการตรวจบ้านพื้นฐานมาให้ด้วยนะคะ

1.เปรียบเทียบตัวบ้าน กับแบบแปลนบ้าน
2.โครงสร้างบ้าน
3.ผนังบ้าน-พื้นบ้าน
4.พื้นหน้าบ้าน
5.รั้วบ้าน, ระบบเปิด-ปิดประตูรั้ว(ถ้ามี)
6.ท่อระบายน้ำ
7.สวนหน้าบ้าน
8.ฝ้าเพดาน
9.กระเบื้อง
10.หลังคา-ใต้หลังคา
11.ประตู
12.หน้าต่าง/ช่องเปิดต่าง ๆ
13.สีภายใน-ภายนอก
14.ระบบไฟ
15.ระบบน้ำดี/ระบบน้ำเสีย
16.ระบบเซฟตี้(ระบบตัดไฟ,กันไฟรั่ว/ไฟเกิน)

2.เตรียมอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับตรวจงาน

การตรวจบ้าน บางรายการสามารถเช็กความเรียบร้อยแค่ภายนอกได้ แต่บางรายการก็ไม่สามารถตรวจด้วยตาเปล่าได้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ สำหรับตรวจเช็ก

1.ลิสต์รายการ/สมุด จดรายการสิ่งที่ต้องการแก้ไขในกรณีที่ต้องการให้ทางโครงการแก้ไข
2.กระดาษโน๊ตมีกาว/สติ๊กเกอร์ สำหรับติดบริเวณที่ต้องการให้ทางโครงการแก้ไข
3.ไขควงวัดไฟ เพื่อตรวจสอบระบบไฟ ที่อาจมีการรั่วไหล
4.ไฟฉาย ใช้ส่องในจุดอับแสงและใต้หลังคา
5.ตลับเมตร ใช้วัดพื้นที่เพื่อเปรียบเทียบบ้านและแปลนบ้าน
6.ดินน้ำมัน อุดท่อระบายน้ำเพื่อเช็กการรั่วซึม และการระบายน้ำ
7.กล้อง ถ่ายภาพจุดที่เป็นตำหนิหรือต้องการแก้ไข เพื่อเปรียบเทียบก่อนหลัง

เมื่อเตรียมลิสต์รายการ และอุปกรณ์ เสร็จแล้วก็ไปตรวจบ้านได้เลย

3.เทคนิคการตรวจบ้าน และจุดที่ต้องสังเกต

ในการตรวจบ้าน เราจะเริ่มไล่เช็กตั้งแต่หน้าบ้านจนเข้าไปในตัวบ้านเลยนะคะ
เปรียบเทียบตัวบ้าน กับแบบแปลนบ้าน
ในการซื้อขายบ้านทางโครงการ จะมอบแปลนบ้านให้กับผู้ซื้ออยู่แล้ว เราก็เพียงแค่เช็ก แปลนบ้าน แต่ละห้อง ว่ามีขนาดและจุดวางระบบต่าง ๆ ตรงกับในแปลนที่ทางโครงการให้มาไหม

ผนังบ้าน-พื้นบ้าน
เดินสำรวจรอยร้าวของบ้านและพื้นบ้าน เช็กรอบบ้านการถมดินและอัดดิน ว่าดินจะไม่ทรุดในอนาคต และตรวจสอบรอยร้าวที่ผนังบ้าน จุดสังเกต รอยร้าวที่เป็นรอยแยก ลึก และมีขนาดใหญ่ มีวัสดุปูนหลุดออกมา จะเป็นรอยร้าวจากโครงสร้าง แต่หากเป็นรอยเล็ก ไม่มีความลึก นั้นเป็นเพียงรอยร้าวแตกลายงาบนผนังหรือเสา ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการหดตัวของปูนเมื่อสูญเสียความชื้น หรือการฉาบที่ไม่ได้คุณภาพ แต่รอยรอยประเภทนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด

รั้วบ้าน, ระบบเปิด-ปิดประตูรั้ว(ถ้ามี)
ตรวจสอบตัวประตูรั้ว รางประตู และตัวล็อค มีความแข็งแรงมากพอหรือไม่ หากเป็นระบบไฟฟ้า ก็ควรมีระบบเซฟตี้ในกรณีที่มีคนเดินผ่านขณะประตูทำงาน ตรวจสอบระบบในกรณีที่ไฟดับ ไม่เช่นนั้น อาจจะโดนขังไว้ในบ้านได้

กระเบื้อง
ตรวจสอบการปูกระเบื้องโดนการเคาะลงไปบนพื้นกระเบื้อง หากพื้นกระเบื้องปูไม่สนิท จะมีเสียงดังก้อง ๆ เมื่อเวลาผ่านไป จะทำให้อากาศเข้าไปและพื้นกระเบื้องหลุดร่อนได้ รวมถึงการตรวจสอบการเว้นระยะของการปูกระเบื้อง หากปูกระเบื้องชิดติดสนิทกันเกินไป เมื่อเวลาผ่านไป ก็มมีโอกาสที่จะทำให้กระเบื้องระเบิด ตามที่เห็นในข่าวกันบ่อย ๆ ได้

ประตู/หน้าต่าง/ช่องเปิดต่าง ๆ
ตรวจสอบการปิด/เปิด ว่าสามารถปิดได้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์/แมลงเข้ามาภายในบ้าน และคราบกาวเลอะ การเก็บสี เก็บงานละเอียดหรือไม่ ลองฉีดน้ำบริเวณกรอบหน้าต่าง/บานเลื่อนว่าน้ำไม่เข้าภายในบ้าน ไม่มีการร่ัวซึม

สีภายใน-ภายนอก
ตรวจสอบการหลุดร่อน สีที่อาจพอง หรือการเก็บงาน เนื่องจากผนังบ้านเป็นส่วนที่มักถูกมองข้าม หลังจากการติดตั้งงานอื่น ๆ

ระบบไฟ
- ควรตรวจสอบภายในกล่องไฟว่าภายในมีการเดินสายไฟเรียบร้อย ไม่มีรอยแตกของอุปกรณ์ใดๆ  และทดสอบสวิตช์ตัดไฟว่าสามารถใช้ได้จริง มีวงจรย่อยหรือเบรกเกอร์ย่อยในตู้โหลดไฟฟ้า ควรมีการแยกวงจรแต่ละส่วนชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการบำรุง
- ตรวจสอบสายไฟทั่วบ้าน ในส่วนของใต้หลังคาสายไฟควรอยู่ในท่อร้อยสายไฟให้เรียบร้อย
- ตรวจสอบสวิตซ์ไฟฟ้า ว่าสามารถใช้งานได ไม่มีการต่อสลับกัน และลองปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านทั้งหมด
- ตรวจสอบการหมุนของมิเตอร์ไฟฟ้าว่าไม่มีความผิดปกติใด

ระบบน้ำดี/ระบบน้ำเสีย
- ตรวจสอบมิเตอร์น้ำ -การหมุนเมื่อไม่ได้เปิดน้ำ และการหมุนเมื่อเปิดน้ำ
- ตรวจสอบก๊อกน้ำ -ทุกข้อต่อ ว่าไม่มีการรั่วซึมใด ๆ
- ตรวจสอบปั๊มน้ำ/ถังน้ำ -ว่ามีการทำงานเป็นปกติ สามารถเก็บน้ำได้
- ตรวจสอบระบบการระบายน้ำ -ลองกดชักโครก เปิดน้ำทิ้งไว้ ว่าสามาถระบายน้ำได้ทันหรือไม่

ตรวจบ้านเสร็จแล้ว อย่าลืมที่จะทำการเซ็นเอกสาร เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างเจ้าของบ้านและโครงการ รวมถึงติดตามโครงการแก้ไข ระยะเวลาที่คุยกันให้เรียบร้อย การตรวจบ้านอาจจะดูมีรายละเอียดเยอะ และอย่าลืมว่า บ้านหลังนี้เราไม่ได้อยู่เพียงเดือนสองเดือน เราต้องอาศัยอยู่หลังนี้ไปอีกนาน

**นี่เป็นเพียงการตรวจบ้านเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการตรวจรายละเอียด ควรใช้บริการของผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด

สนใจหาบ้าน คลิก https://nayoo.co/rayong/


บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

ระยองน่าอยู่แนะนำ : บ้านน่าอยู่ใกล้แหล่งงาน IRPC บ้านเพ ปี 2567
ระยองน่าอยู่แนะนำ : บ้านในเมืองน่าอยู่ ใกล้แพชชั่น (แหลมทอง)  ปี 2567
ระยองน่าอยู่แนะนำ : บ้านในเมืองน่าอยู่ ใกล้เซ็นทรัลระยอง ปี2567
ระยองน่าอยู่แนะนำ : บ้านในเมืองน่าอยู่ ติดชายหาดแสงจันทร์ กรอกยายชา ปี2567

ไม่พลาดทุกข่าวสารเรื่องบ้านและความเป็นอยู่ในระยองกับ ‘ระยองน่าอยู่’ แพลตฟอร์มหาบ้าน ที่ดิน คอนโด หอพัก ทั่วเมืองระยอง ทั้งบ้านมือ 1, มือ 2 ใช้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
🏠 โครงการบ้านใหม่ : 👉👉คลิกดูทั้งหมด👈👈
🏕 บ้านมือสองและที่ดิน : 👉👉คลิกดูทั้งหมด👈👈
🏬 หาห้องเช่า/หอพัก :  👉👉คลิกดูทั้งหมด👈👈

มองหาบ้านน่าอยู่ ลองดูใน "ระยองน่าอยู่"