พาดูหลังคา 11 รูปทรง สำหรับบ้านใหม่

“หลังคา” เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน และแต่ละรูปทรงนั้นก็มีหน้าตาและคุณสมบัติแตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลต่อการออกแบบให้เหมาะสมกับตัวบ้าน ทั้งในด้านของฟังก์ชั่นการใช้สอย ความสวยงาม และความลงตัวกับบ้านทั้งหลัง รูปแบบของหลังคาบ้านมีแบบใดบ้างและควรเลือกยังไงให้เหมาะสมกับบ้านของเรา

1.หลังคาจั่ว : กันแดดได้ ระบายความร้อนได้ดี

ภาพ: บ้านหลังคาจั่วที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป

หลังคาจั่ว (Gable Roof) มีรูปทรงเรียบง่าย ที่ผืนหลังคาด้านซ้ายและด้านขวาเอียงขึ้นมาบรรจบกันที่สันบนสุดตรงกลาง ในปัจจุบันที่นิยมมีทั้งแบบที่มี ชายคายื่นยาว และ แบบ ไม่มีชายคา เพื่อให้ดูเรียบโมเดิร์นทันสมัย ซึ่งอาจเลือกใช้คู่กับการออกแบบระแนงหรือกันสาดเพิ่มเติมตามจุดที่แดดส่องหรือฝนสาด เพื่อให้เข้ากับบ้านในเมืองไทยของเรา

ข้อดี คือ ก่อสร้างง่าย กันแดด กันฝน ได้ดี อีกทั้งถ้าหากเจาะช่องระบายอากาศบริเวณหน้าจั่วเพิ่ม ก็จะช่วยระบายความร้อน บริเวณโถงหลังคาจั่วได้

ข้อเสีย คือ มีโอกาสที่ฝนจะสาดเข้ามาในบริเวณหน้าจั่วได้

ภาพ: บ้านสไตล์โมเดิร์นที่เรียบเท่โดยใช้หลังคาจั่วแบบที่ไม่มีชายคา

ภาพ: บ้านที่ใช้หลังคาจั่วแบบที่ไม่มีชายคา โดยให้ดูเหมือนหลังคาจั่วต่อเนื่องกับผนังเป็นผืนเดียวกัน

ภาพ: หลังคาจั่วที่ยาวจรดพื้นดินลักษณะคล้ายกระท่อม

2.หลังคาทรงปั้นหยา : กันแดด กันฝน ทนแรงลม

หลังคาทรงปั้นหยา (Hip Roof) เป็นอีกทรงที่ดูเรียบง่าย มีผืนหลังคาทั้งสี่ด้านลาดเอียงขึ้นไปชนกันจรดสันหลังคา สามารถออกแบบให้มีระยะชายคาเล็กน้อย หรือระยะชายคาที่ยื่นยาวได้

ข้อดี คือ หากเป็นหลังคาที่มีระยะชายคายื่นยาวจะกันแดดกันฝนได้ทุกด้าน อีกทั้งยังทนต่อการปะทะจากแรงลมได้ดี

ข้อเสีย คือไม่มีหน้าจั่วที่จะช่วยเรื่องการระบายความร้อน ซึ่งจะสามารถปรับได้โดยเลือกใช้ฝ้าชายคาแบบมีรูระบายอากาศ หรือการทำหลังคาสองชั้น ให้ช่วยระบายความร้อนได้

ภาพ: หลังคาทรงปั้นหยากับองค์ประกอบที่ประณีตของบ้านสไตล์ไทยร่วมสมัย

ภาพ: หลังคาทรงปั้นหยาสองชั้นกับบ้านที่มีกลิ่นอายความเป็นไทย

ภาพ: หลังคาทรงปั้นหยากับบ้านสไตล์โมเดิร์น

3.หลังคาทรงมนิลา : ปั้นหยาผสมจั่วที่ทนแดด ทนฝน

หลังคาทรงมนิลา (Manila Roof / Dutch Gable Roof) เป็นทรงที่ได้นำเอาหลังคาทั้งสองรูปแบบคือ หลังคาจั่วและ หลังคาทรงปั้นหยามาผสมผสานกัน ส่วนใหญ่จะนิยมทำให้ชายคายื่นยาวออกมาเพื่อกันแดด กันฝนจากทุกทิศทาง

ข้อดี คือ หลังคาทรงปั้นหยาจะช่วยป้องกันแดดและฝนได้ทั้งสี่ด้าน ส่วนที่เป็นหลังคาจั่วเมื่อติดตั้งช่องระบายอากาศด้วยจะช่วยเรื่องลดความร้อนในบ้านได้ดี จึงเมาะกับบ้านเมืองร้อนฝนตกชุกอย่างเมืองไทยของเรามาก

หลังคาทรงนี้จะเข้ากับบ้านสไตล์ประยุกต์ ที่ดูประณีต มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาก และแบบบ้านสไตล์โคโลเนียล ที่เป็นการผสมระหว่างวัฒนธรรมไทยและศิลปะตะวันตกอย่างลงตัว โดยจะเลือกใช้กระเบื้องหลังคาหางว่าว ที่เมื่อมุงเสร็จจะเห็นเป็นสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเรียงตัวกันอยู่อย่างเป็นระเบียบในแนวทแยง ซึ่งนี่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับบ้านเรือนไทยมานาน

ภาพ: หลังคาทรงมนิลาที่นิยมใช้กับบ้านที่มีกลิ่นอายความเป็นไทย

4.หลังคาจั่วตัด เรียบง่าย กันแดด-ฝนได้ดี

หลังคาจั่วตัด (Jerkinhead Roof) หลังคาจั่วที่ดูเหมือนมีการตัดเอาส่วนมุมแหลมด้านบนออก และมีผืนหลังคาส่วนนั้นลาดเอียงลงมา ให้ความรู้สึกมนมากกว่าหลังคาจั่วธรรมดา ดูเป็นหลังคาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นิยมทำแบบที่มีชายคาเพื่อให้ดูมีมิติยื่นออกมาจากผนัง

ข้อดี คือ สามารถกันแดด กันฝนได้ดี โดยส่วนที่เป็นหลังคามุมตัดนั้นจะช่วยกันแดดและฝนสาดเข้าในตัวบ้าน และสามารถติดเกล็ดระบายอากาศได้ในส่วนนี้ด้วย

ภาพ: บ้านหลังคาจั่วตัด ที่ดูมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

5.หลังคาทรงเพิงแหงน : เรียบเท่ ทันสมัย

หลังคาเพิงแหงน (Lean-to Roof) หลังคาที่เรียบ ลาดเอียงเพียงด้านเดียว รู้เรียบง่ายทันสมัย นิยมทำแบบที่มีชายคาเพื่อช่วยในการบังแดด บังฝน

ข้อดี คือ มีรอยต่อน้อย ไม่มีผืนหลังคาซับซ้อน ก่อสร้างง่ายรวดเร็ว อีกทั้งประหยัดโครงสร้างหลังคา ประหยัดเวลาและค่าแรง แต่เรื่องกันแดดกันฝนนั้น จะกัดได้แค่ด้านเดียว คือด้านฝั่งที่หลังคาลาดเอียงลงมา

ในอดีตนิยมใช้หลังคาทรงนี้กับงานก่อสร้างแบบชั่วคราว หรืองานต่อเติมแบบเล็กๆ แต่ปัจจุบันหลังคาทรงนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะเส้นสายดูเรียบเท่นี้ เข้ากันกับบ้านสไตล์โมเดิร์นได้อย่างดี

ภาพ: บ้านสไตล์โมเดิร์นกับหลังคาทรงเพิงแหงน

ภาพ: บ้านที่เรียบง่าย เลือกใช้หลังคาทรงเพิงแหงนสองด้าน ที่เชิดด้านที่สูงกว่าเข้าหากัน ดูราวกับเป็นหลังคาจั่วที่ถูกแบ่งครึ่งและแยกออกจากกัน

ภาพ: หลังคาทรงเพิงแหงนกับบ้านที่ตกแต่งด้วยวัสดุธรรมชาติอย่างไม้และหิน

6.หลังคาปีกผีเสื้อ : โดดเด่น มีเอกลักษณ์ แต่ต้องระวังการรั่วซึม

หลังคาปีกผีเสื้อ (Butterfly Roof) พัฒนามาจากหลังคาทรงเพิงแหงนสองด้านลาดเอียงลงมาหากัน คล้ายปีกผีเสื้อที่กางออก นิยมออกแบบให้มีชายคา

ข้อควรระวัง หลังคาทรงนี้มีโอกาสน้ำรั่วซึมแล้วไหลเข้าตัวบ้านได้ง่ายกว่ากลังคาทรงอื่นๆ ดังนั้นจึงควรทำรางระบายน้ำในขนาดที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำฝน และระบบระบายน้ำต้องดีด้วย

ภาพ: หลังคาทรงปีกผีเสื้อกับบ้านสไตล์โมเดิร์นและบ้านสไตล์เนเชอรัล

7.หลังคาเรียบแบน : ดูเรียบง่าย เพิ่มพื้นที่ใช้สอย

หลังคาเรียบแบน (Flat Roof) หากเรามองจากภายนอก หลังคาทรงเรียบตรง แต่จะมีสองแบบตามลักษณะการก่อสร้าง แบบแรกคือแบบหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็ก (Flat Slab Roof) หรือหลังคาดาดฟ้า แบบที่สองคือหลังคา Parapet เป็นรูปแบบที่มีผนังล้อม เพื่อปิดบังหลังคามุง (หลังคาซ่อน) หรือเป็นพื้นดาดฟ้าที่มีผนังกันตก โดยรอบขอบอาคาร

ข้อดี คือ สามารถออกแบบเป็นสวนสำหรับพักผ่อน และช่วยลดความร้อนจากแสงแดดได้โดยไม่ส่องตกกระทบคอนกรีต

ข้อควรคำนึง คือ คอนกรีตจะดูดซับความร้อนได้ดี ทำให้บ้านร้อน และหากมีรอยร้าวน้ำฝนจะค่อยๆ ซึมสะสมในเนื้อคอนกรีตจนเกิดการรั่วซึมในอนาคตได้ จึงต้องติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพิ่ม รวมถึงทำระบบกันน้ำซึมและปรับระดับพื้นให้มีความลาดเอียงไปยังทางระบายน้ำ

ภาพ: หลังคารูปทรงเรียบแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ของร้านกาแฟเล็ก PENGUIN GHETTO เจ้าของร้านคือกลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรงนาม NOTDS ขอบคุณภาพ: คุณอรุณ ภูริทัต

ภาพ: หลังคาอาคารรูปทรงเรียบในลักษณะหลังคา Parapet ของ 28th Street Apartment ที่ทำหน้าที่เป็นที่นั่งเล่นพักผ่อนในตัว ขอบคุณภาพ: คุณต่อพงษ์ เอื้อประยูรวงศ์

ภาพ: หลังคาทรงเรียบแบน ไม่ว่าจะเป็นหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กหรือหลังคา Parapet เมื่อมองจากภายนอกจะดูไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก

8.หลังคาทรงโค้ง : ดีไซน์ล้ำ ดูเรียบมน ดึงดูดความสนใจ

หลังคาทรงโค้ง (Curved Roof) มีลักษณะที่โดดเด่นโค้งมนดึงดูดความสนใจในระยะไกล นิยมออกแบบในลักษณะที่มีชายคา ทั้งแบบยื่นในระยะที่สั้นและแบบยื่นยาวนิยมก่อสร้างโดย โครงสร้างเปลือกบาง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วัสดุประเภทเมทัลชีทหรืออะลูมิเนียมขึ้นรูป มีน้ำหนักเบา รอยต่อน้อย

ข้อดี คือสร้างผิวโค้งได้หลากหลายรูปแบบ รูปทรง และจะไม่ค่อยรั่วซึมเท่าไหร่นัก แต่ต้องอาศัยการออกแบบคำนวณโครงสร้างรองรับจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยและความสวยงาม

ภาพ: หลังคาทรงโค้งกับบ้านรูปแบบต่างๆ

9.หลังคาทรงหลายเหลี่ยม : ดูประณีต กันแดด-ฝนได้อย่างดี

หลังคาทรงหลายเหลี่ยม ดูคล้ายทรงปั้นหยา หลังคาทรงหลายเหลี่ยมนี้จะมีทั้งแบบหกเหลี่ยม (Hexagonal Roof) และแบบแปดเหลี่ยม (Octagonal Roof) จะเป็นผืนหลังคาหกผืนลาดเอียงขึ้นไปเจอกันด้านบนสุด

ข้อดี คือ สามารถบังแดดบังในให้กับอาคารได้ทุกด้าน

ข้อควรคำนึง คือ การเตรียมโครงสร้างให้เหมาะสม มีการคำนวณการรองรับน้ำหนักที่ถูกต้อง

ส่วนใหญ่จะใช้กับศาลาหรือหากกับใช้บ้านจะเป็นในส่วนของโถงสูงอย่างห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก หรือห้องอาหาร

ภาพ: ตัวอย่างหลังคารูปทรงหลายเหลี่ยมสองชั้นที่มีสเปซโถงหลังคาสูงคู่กับหลังคาทรงอื่น

10.หลังคาทรงโดม : ดูโออ่า ประณีตงดงาม

หลังคาทรงโดม (Dome Roof) มีลักษณะโค้งมนคล้ายผลส้มผ่าครึ่งคว่ำ ดูประณีตอ่อนช้อย สำหรับบ้านพักอาศัยสามารถใช้วัสดุขึ้นรูปสำเร็จ เช่นคอนกรีตเสริมใยแก้ว (GRC) เป็นโครง และปิดผิวด้วยวัสดุตกแต่ง อย่างกระเบื้องโมเสก แผ่นโลหะ หรือสามารถทาสีทับตามต้องการ

ข้อควรคำนึง คือ รายละเอียดป้องกันการรั่วซึมบริเวณรอยต่อระหว่างวัสดุสำเร็จของตัวโดมกับโครงสร้างที่รองรับ และเลือกใช้ช่างที่มีความชำนาญการทางด้านปูนปั้นในการตกแต่ง

ภาพ: บ้านที่ใช้หลังคารูปทรงโดมเป็นองค์ประกอบคู่กับหลังคาทรงปั้นหยาและหลังคาทรงหลายเหลี่ยม

11.หลังคารูปทรงอิสระ : ดูท้าทาย น่าตื่นตาตื่นใจ

หลังคารูปทรงอิสระ (Free Form Roof) จะมีความเฉพาะตัวโดดเด่นเรื่องรูปทรงที่แตกต่างตามการออกแบบของนักออกแบบเพื่อให้เข้ากับสไตล์บ้าน และมีความต้องการของเจ้าของบ้านแต่ละคน

ข้อควรคำนึง อาจต้องอาศัยการคำนวณจากคอมพิวเตอร์และผู้เชี่ยวชาญในการเลือกงานโครงสร้าง เลือกวัสดุที่มีความยืดหยุ่นรองรับรูปทรงหลังคาที่ท้าทาย และต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญงานก่อสร้างในลักษณะนี้เป็นอย่างมาก

เมื่อเราได้รูปทรงหลังคาที่ถูกใจแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการออกแบบโครงสร้าง ที่รองรับให้แข็งแรง เหมาะสม เข้ากับทรงบ้านเพื่อให้ได้บ้านสวยๆ ที่อยู่คู่กับเราไปนานๆ

ภาพ: ตัวอย่างหลังคารูปทรงอิสระ บ้านคุณสมประสงค์ สหวัฒน์ และคุณบัวชมพู ฟอร์ด ขอบคุณภาพ: jeedwonder

ภาพ: หลังคารูปทรงอิสระกับงานสถาปัตยกรรมแบบต่างๆ

ขอบคุณบทความจาก : SCGHOME.COM

สนใจเลือกชมสินค้าเกี่ยวกับหลังคาที่ SCG Home คลิกเลย  https://bit.ly/3H5vGzS

สนใจบริการบริการติดตั้งโครงหลังคาจาก SCG Home คลิกเลย https://bit.ly/3Wd5qYK

หรือสำหรับใครที่อยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาหลังคาบ้าน สามารถตามไปอ่านกันได้ที่  หลังคาบ้านมีปัญหา ทำอย่างไรดี ที่นี่มีคำตอบ กันได้เลยครับ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ